บริษัทออแพร์ในสหรัฐฯ เตรียมจ่ายร่วม 2 พันล้านบาท เหตุจ้างงานไม่เป็นธรรม

Au pair Wendy Aguirre helps the Lyon children Ella, right; C.J., left; and Jackson with art projects Thursday, Dec. 7, 2006, in Overland Park, Kan. Aguirre, from Panama, is teaching the three 3-year-olds Spanish as part as her duties as the family's au pa

บริษัทราว 15 แห่ง ที่เปิดรับโครงการออแพร์ในอเมริกา ยื่นข้อตกลงยอมความ 65.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2 พันล้านบาทสำหรับผู้เสียหายเกือบ 100,000 คน ที่เข้าร่วมโครงการออแพร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ที่เข้าร่วมโครงการในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อมีอดีตออแพร์ราวสิบคน จากโคลอมเบีย, ออสเตรเลีย, เยอรมนี, แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก ยื่นฟ้องต่อบริษัทออแพร์ 15 แห่งในอเมริกา ฐานจ้างงานไม่เป็นธรรม ตั้งแต่ให้ค่าจ้างที่ไม่เป็นไปตามกฏหมายค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีค่าล่วงเวลา

นอกจากนี้ มีรายงานว่าหลายครอบครัวที่ว่าจ้างบังคับให้เหล่าออแพร์ผู้เสียหายทำงานเกินหน้าที่ เช่น ทำสวน ทำปศุสัตว์ ช่วยครอบครัวย้ายบ้านซึ่งเป็นงานใช้แรงงาน รวมทั้งไม่อนุญาตให้ออแพร์ร่วมโต๊ะอาหารกับครอบครัวที่ว่าจ้าง

แต่ทางบริษัทออแพร์ทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา ก่อนยื่นข้อเสนอยอมความในจำนวนเงินดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความตกลงยอมความจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้พิพากษาสหรัฐฯในคดีดังกล่าวก่อน

ทางทนายฝั่งผู้เสียหาย ระบุว่าได้จัดทำเว็บไซต์ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่คาดว่าจะเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากโครงการออแพร์เหล่านี้ โดยเป็นผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการออแพร์ ด้วยวีซ่า J-1 ตั้งแต่ 1 มกราคม ปี พ.ศ. 2552 ถึง 28 ตุลาคมปีก่อน

ทั้งนี้ โครงการออแพร์ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2529 โดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างครอบครัวชาวอเมริกันกับผู้คนจากทั่วโลก

ผู้ที่เข้าร่วมจะต้องได้รับวีซ่า J-1 เพื่ออาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมป์เป็นเวลา 12 เดือน ทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการดูแลเด็ก รวมทั้งต้องเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการรับรองในช่วงเวลาดังกล่าว แลกกับอาหาร ที่พัก ค่าเรียน และค่าตอบแทนจากครอบครัวอุปถัมป์ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม โครงการออแพร์ ถูกเปรียบเทียบกับอาชีพพี่เลี้ยงเด็ก หรือ แนนนี่ ที่มีค่าจ้างสูงกว่าออแพร์ถึง 3 เท่าตัว โดยเมื่อปี พ.ศ. 2552 รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของอเมริกา ที่ 7.25 ดอลลาร์ อีกทั้งยังมีรายงานว่าครอบครัวอุปถัมป์ ต้องหักเงินค่าจ้างร้อยละ 40 เพื่อเป็นค่าอาหารและที่พักของผู้เข้าร่วมโครงการด้วย