Your browser doesn’t support HTML5
ที่สนามบินดูไบ ผู้โดยสารสามารถใช้ม่านตาเพื่อยืนยันตัวตนโดยไม่จำเป็นต้องแสดงเอกสารใดๆ
ระบบดังกล่าวเปิดตัวขึ้นในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ยังคงต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด -19 ซึ่งรัฐบาลยกให้โครงการนี้เป็นเครื่องมือในการช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เพราะวิธีดังกล่าวช่วยให้ผู้โดยสารไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
ระบบสแกนม่านตานี้ใช้ biometric หรือชีวมิติ ซึ่งได้รับการออกแบบขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลทางชีวภาพที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลเพื่อระบุตัวตน ทั้งนี้ระบบจดจำใบหน้าก็เป็นการใช้ไบโอเมตริกรูปแบบหนึ่ง ระบบดังกล่าวใช้วิธีการคล้ายกับที่ใช้ในเทคโนโลยีการพิมพ์ลายนิ้วมือ
สนามบินดูไบใช้อุปกรณ์ในการสแกนม่านตาซึ่งเป็นส่วนที่มีสีของดวงตา โดยการให้ผู้โดยสารมองตรงเข้าไปในกล้องเพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลทางชีวภาพได้
การใช้ระบบสแกนม่านตานั้นแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความแม่นยำของเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ไบโอเมตริกของม่านตาถือว่าเป็นระบบที่เชื่อถือได้มากกว่าระบบที่สแกนใบหน้าของผู้คนจากระยะไกล
ในสนามบินดูไบซึ่งเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดในโลกสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ผู้โดยสารจะเดินเข้าเครื่องสแกนม่านตาหลังจากเช็คอินแล้ว หลังจากที่มองเข้าไปในกล้องพวกเขาก็จะสามารถผ่านจุดตรวจหนังสือเดินทางได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยที่ไม่ต้องพกบัตรเดินทางกระดาษหรือใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ
เจ้าหน้าที่ในดูไบกล่าวว่าการสแกนดังกล่าวนี้จะเชื่อมต่อข้อมูลม่านตาของบุคคลกับฐานข้อมูลการจดจำใบหน้าของ UAE ทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องใช้เอกสารในการเดินทาง ระบบนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทสายการบิน Emirates และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของดูไบ เจ้าหน้าที่กล่าวอีกว่าระบบจะช่วยให้ผู้โดยสารผ่านกระบวนการอัตโนมัติตั้งแต่การเช็คอินไปจนถึงการขึ้นเครื่องบินได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
พลตรี Obaid Mehayer Bin Suroor รองอธิบดีกองอำนวยการทั่วไปด้านถิ่นที่อยู่และกิจการต่างประเทศของดูไบบอกกับ The Associated Press ว่าการสแกนม่านตานี้เป็นระบบอัจฉริยะที่ใช้เวลาเพียงห้าถึงหกวินาที
อย่างไรก็ตาม ผู้คนยังหวั่นเกรงว่าเทคโนโลยีนี้จะทำให้สูญเสียความเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกันกับระบบจดจำใบหน้า ทั้งนี้ UAE ได้เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการสอดส่องนักข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน
ในคำชี้แจงสิทธิส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับระบบไบโอเมตริก Emirates ระบุไว้ว่าทางสายการบินเชื่อมโยงใบหน้าของผู้โดยสารกับข้อมูลระบุตัวบุคคลอื่นๆ รวมถึงหนังสือเดินทางและข้อมูลเที่ยวบิน นอกจากนี้ยังเสริมว่าข้อมูลดังกล่าวสามารถเก็บไว้ได้ตราบเท่าที่มีความจำเป็นตามสมควรสำหรับวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูล
นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของ Emirates ยังระบุด้วยว่าข้อมูลไบโอเมตริกที่รวบรวมทั้งหมดจะถูกจัดเก็บไว้ในสารบบ “General Directorate of Residency and Foreigner Affairs” ตามกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านั้นสามารถใช้ได้ทั่วทั้งสนามบินเพื่อการระบุตัวบุคคล
นาย Bin Suroor กล่าวว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้โดยสารทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองดูไบเก็บไว้จะได้รับการคุ้มครองอย่างสมบูรณ์เพื่อไม่ให้บุคคลที่สามสามารถมองเห็นได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับการเฝ้าระวังที่มากเกินไปในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่เครือข่ายการจดจำใบหน้าขนาดใหญ่ของประเทศก็แสดงสัญญาณของการขยายตัว เมื่อเดือนที่แล้ว Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum นายกรัฐมนตรี UAE ได้ประกาศการทดสอบระบบจดจำใบหน้าระบบใหม่ เขากล่าวว่าเทคโนโลยีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณเอกสารที่จำเป็นสำหรับการให้บริการของภาคเอกชนบางส่วน