งานวิจัยชี้ 'ออกกำลังกายแบบนักบินอวกาศ' อาจช่วยเยียวยาผู้ป่วยมะเร็ง

Your browser doesn’t support HTML5

Astronaut Exercise Cancer

รายงานการวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Cell ชี้ว่า โปรแกรมการออกกำลังกายแบบที่องค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) ใช้กับนักบินอวกาศ อาจเป็นประโยชน์ในการเยียวยาผู้ป่วยมะเร็งได้ ตามรายงานของ CNN

รายงานการศึกษาโดยนักวิจัยที่ศูนย์มะเร็ง Memorial Sloan Kettering Cancer Center ในนิวยอร์ก ชี้ว่า โปรแกรมการออกกำลังกายที่นักบินอวกาศของนาซ่าใช้ ทั้งในช่วงก่อน-หลัง และระหว่างที่อยู่ในอวกาศ อาจนำมาปรับใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง โดยอาจจะช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งนั้น

นักวิจัยใช้วิธีตรวจสอบผลกระทบที่มีต่อร่างกายของนักบินอวกาศหลังจากที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานีอวกาศนานกว่า 6 เดือน โดยพบว่าสภาพร่างกายของนักบินเหล่านั้นจะคล้ายกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งที่อยูระหว่างการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เคมีบำบัด การสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการรักษาแบบตรงจุด

นักวิจัย เจสสิก้า สก็อตต์ ระบุว่าทั้งนักบินที่เพิ่งกลับจากอวกาศและผู้ที่เข้ารับการบำบัดมะเร็งต่างมีมวลกล้ามเนื้อลดลง มวลกระดูกลดลง เลือดจาง ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเปลี่ยนไป

นอกจากนั้น นักบินอวกาศจะมีภาวะที่เรียกว่า "Space fog" ซึ่งหมายถึงอาการหลงลืมเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือไม่สามารถเพ่งสมาธิไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ซึ่งคล้ายกับอาการของผู้บำบัดมะเร็งที่เรียกว่า "chemo brain"

ที่ผ่านมา องค์การอวกาศสหรัฐฯ พยายามลดผลกระทบของอาการผิดปกติทางกายภาพนี้ ด้วยการจัดโปรแกรมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทั้งในช่วงก่อน-หลัง และระหว่างที่อยู่ในอวกาศ ซึ่งต่างกับผู้บำบัดโรคมะเร็งที่มักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้พักผ่อนมาก ๆ ทั้งก่อนและหลังการบำบัด

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า จริง ๆ แล้ว การที่ผู้รับการบำบัดมะเร็งขาดการออกกำลังกายนั้นอาจจะกลายเป็นผลเสียได้ และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากผลข้างเคียงในระยะยาวของการบำบัดมะเร็ง มากกว่าตัวเซลล์มะเร็งเอง

ดังนั้น นักวิจัยจึงแนะนำว่าผู้บำบัดมะเร็งควรออกกำลังกายในแบบเดียวกับโปรแกรมที่นาซ่านำมาใช้กับนักบินอวกาศ ทั้งในช่วงที่เตรียมเข้ารับการบำบัดและหลังจากการบำบัดแล้ว เพื่อลดผลข้างเคียงจากการบำบัดนั้นในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยแนะนำให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจดูผลกระทบที่แท้จริงจากการออกกำลังกายดังกล่าว ซึ่งหากวิธีนี้ใช้ได้ผลจริงก็จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาเยียวยาผู้ป่วยมะเร็งได้ในอนาคต และนั่นหมายถึงการช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกได้หลายล้านคนต่อปี