Your browser doesn’t support HTML5
รายงานชิ้นล่าสุดของ เวริสค์ เมเปิลครอฟ์ (Verisk Maplecroft) บริษัทประเมินความเสี่ยงในประเทศอังกฤษ ในบรรดาเมือง 100 แห่งที่เสี่ยงมากที่สุดต่อกระทบจากภัยสิ่งแวลล้อม 99 เมืองอยู่ในทวีปเอเชีย โดยร้อยละ 80 อยู่ประเทศอินเดียและจีน
รายงานชิ้นดังกล่าวอธิบายว่าประชากรราว 1.5 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆกว่า 400 แห่งทั่วโลกได้รับความเสี่ยงในระดับสูง (High) และสูงที่สุด (Extreme) เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งมลพิษทางอากาศที่มีผลร้ายต่อสุขภาพ รวมถึง แหล่งน้ำที่มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ คลื่นความร้อนระอุที่อันตรายถึงชีวิต ภัยธรรมชาติต่างๆ และ ปรากฏการณ์โลกร้อน
จาการ์ตาขึ้นแท่นเมืองที่มีปัญหาจากสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก
เมืองที่มีปัญหาจากภัยสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่ใดโลก ในการจัดอับดับครั้งนี้ คือ กรุงจาการ์ตาของประเทศอินโดนีเซีย และอยู่ห่างจากกรุงเทพฯเพียง 3 ชั่วโมงเศษเมื่อเดินทางด้วยเครื่องบิน กรุงจาการ์ตานั้นเผชิญกับมลพิษทางอากาศอย่างหนัก ซ้ำยังต้องเจอปัญหาน้ำท่วมและคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง
ภัยจากสิ่งแวดล้อมที่น่าวิตกกังวลส่งผลให้ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียประกาศเมื่อปี 2019 ว่ามีแผนย้ายเมืองหลวงจากกรุงจากาตาร์ไปยังที่แห่งใหม่ แต่โครงการดังกล่าวก็ต้องหยุดชะงักลงเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียนำงบราว 33 พันล้านที่จะใช้พัฒนาเมืองหลวงใหม่มาใช้ในการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศแทน ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
เมืองใหญ่ในอินเดียเผชิญมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
นอกจากอินโดนีเซียแล้ว เมืองถึง 13 แห่งในประเทศอินเดีย อาทิเช่น เดลี เจนไน อัคระ กานปุระ ก็ติดอยู่ใน 20 อันดับต้นของเมืองที่เผชิญกับความเสี่ยงภัยสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก ปัญหาหลัก คือ มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่คร่าชีวิตชาวอินเดียก่อนวัยอันควรไปแล้วถึง 1 ล้านคน
หัวหน้าโครงการจัดทำรายงานชิ้น นาย วิล นิคโคลส์ จาก เวริสค์ เมเปิลครอฟ์ อธิบายกับสำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษว่า “นโยบายที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นบังคับใช้ได้ยากในประเทศอินเดีย เนื่องจากการบริหารการปกครองของอินเดียที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเศรษฐกิจนอกระบบในประเทศ”
35 เมืองในจีนมีปัญหามลพิษทางน้ำ
ถัดมาอีกประเทศในเอเชียที่ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก คือ ประเทศจีนซึ่งมีเมืองถึง 35 แห่งที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 50 เมืองที่เผชิญกับวิกฤตมลพิษทางน้ำมากที่สุดในโลก ทั้งนี้ นาย วิล นิคโคลส์ จาก เวริสค์ เมเปิลครอฟ์ อธิบายว่าจีนได้เปรียบกว่าอินเดียในการแก้ปัญหาสิ่งแวดลล้อมเนื่องด้วยระบอบการเมืองของจีน เขากล่าวว่า
“ชนชั้นกลางของประเทศจีนได้ออกมาเรียกร้องกับรัฐบาลถึงคุณภาพของอากาศและน้ำที่ควรจะความสะอาดมากขึ้น ซึ่งระบบการปกครองที่มีคำสั่งจากฝ่ายบริหารไปยังหน่วยย่อยของจีน และ ความสามารถในการออกนโยบายที่สามารถบังคับใช้ได้ทันและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น การสั่งปิดโรงงาน เพื่อลดมลพิษทางอากาศให้ตามเป้านั้น ล้วนทำให้จีนได้เปรียบในโอกาสลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม”
นาย วิล นิคโคลส์ ยังพูดต่ออีกว่า ทวีปเอเชียนั้นมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเป็นบ้านของคนราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลก แต่เมืองต่างๆในประเทศโซนนี้ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างหนักมาก ทั้งในด้านมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และ ภัยธรรมชาติ ซึ่งพอเวลาผ่านไป เมืองเหล่านี้อาจจะไม่สามารถกอบโกยรายได้จากทางเศรษฐกิจได้เพราะปัญหาข้างต้น
วีโอเอได้ตรวจสอบรายงานฉบับเต็มของ เวริสค์ เมเปิลครอฟต์ แต่ไม่พบว่ารายงานมีรายชื่อเเต่ละเมืองในอันดับ 100 เมืองของโลกที่เสี่ยงต่อวิกฤตสิ่งเเวดล้อม จึงไม่สามารถยืนยันว่าเมืองใหญ่ๆในประเทศไทย เช่นกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ อยู่ในอันดับดังกล่าวหรือไม่
ท้ายสุดนี้ เมืองเดียวในไม่ได้ยู่ในโซนเอเชียและติดอันดับ 1 ใน 100 ของที่ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก คือ กรุงลิมา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเปรู นอกจากนี้ เมืองในโซนตะวันออกกลางและเมืองในโซนแอฟริกาเหนือก็ได้รับการจัดดับให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากสิ่งแวดล้อมในเกณฑ์ระดับสูง