สหประชาชาติระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้วมากกว่า 825 คน ซึ่งกินพื้นที่หลายประเทศรวมทั้งพม่า ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทย
ที่เวียดนาม มีผู้เสียชีวิตแล้ว 43 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 38 คน ในส่วนของประเทศไทยมีเด็กเสียชีวิตจากน้ำท่วมราว 50 คนจากจำนวนผู้เสียชีวิต 377 คน เด็กๆที่เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวัย 2 ขวบ – 8 ขวบ
คุณ Jerry Velasquez ผู้ประสานงานอาวุโสของสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติหรือ UNISDR ชี้ว่ามีเด็กๆในประเทศไทย เวียดนามและกัมพูชา เสียชีวิตมากขึ้นจากภัยพิบัติครั้งนี้ พร้อมแนะนำให้ครอบครัวและผู้ปกครองให้ความระมัดระวังต่อลูกหลานมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่สหประชาชาติผู้นี้ระบุว่า สำหรับครอบครัวใหญ่ที่อพยพหนีน้ำท่วมและมีเด็กๆมาด้วย 2 หรือ 3 คน ในขณะที่กำลังเร่งรีบนั้นอาจหลงลืมลูกหลานสักคนไว้ด้านหลัง ซึ่งเพียงแค่ 2 หรือ 3 นาทีเท่านั้นก็อาจทำให้เด็กจมน้ำหรือหายไปได้โดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ตัว ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์หลายคนยังบอกด้วยว่าเด็กๆมีความเสี่ยงสูงต่อเชื้อโรคหรืออันตรายที่มากับน้ำหลายชนิด ดังที่คุณ Annie Bodmer-Roy โฆษกหญิงของกลุ่ม Save the Children ในประเทศไทยชี้แจงไว้ ว่า การที่เด็กหลายคนลงเล่นน้ำ อาบน้ำ หรือแม้แต่ลุยน้ำไปยังที่สูงกว่า อาจเป็นต้นเหตุของโรคที่มากับน้ำหลายชนิด เช่นผิวหนังติดเชื้อ รวมทั้งการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง
ด้านกระทรวงสาธารณสุขไทยเตือนว่า นอกจากผู้ประสบอุทกภัยกำลังเผชิญอันตรายจากการจมน้ำหรือถูกไฟฟ้าช็อตแล้ว ยังมีอันตรายจากสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำท่วมจากโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มปศุสัตว์และน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน นอกจากนี้น้ำท่วมขังตามที่ต่างๆ ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่มียุงเป็นพาหะหลายชนิด เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก หรือโรคสมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส