สหประชาชาติประชุมที่กรุงเทพฯหาวิธีลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยธรรมชาติ

Giant tsunami waves hit coast of Japan.

Your browser doesn’t support HTML5

asia-disaster


องค์การสหประชาชาติประมาณว่าราวๆ 80% ของภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย และที่ประชุมซึ่งมีผู้แทนมากกว่า 2,500 คนจากกว่า 40 ประเทศ กำลังร่วมประชุมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ กำลังพยายามหาวิธีที่จะลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากหายนภัยเหล่านี้

พลเอกธนศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในวันเปิดการประชุมว่า ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีหายนะภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นมากกว่า 10 ครั้ง ทำความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สิน

การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทำกันไว้หลังแผ่นดินไหวและคลื่น สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ปี ค.ศ. 2004 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 คนใน 14 ประเทศ

นาง Margareta Wahlstrom ผู้แทนของเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายการลดความเสี่ยงจากหายนภัย กล่าวว่า มีความก้าวหน้าในการช่วยให้ชุมชนตามท้องถิ่นมีความตระหนักต่อภัยธรรมชาติ และสมรรถนะในการฟื้นฟูตนเองได้

เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติผู้นี้กล่าวไว้ด้วยว่า ในขณะที่สามารถพูดได้ว่า มีผู้เสียชีวิตน้อยลง และในบางประเทศเริ่มควบคุมความเสียหายทางเศรษฐกิจได้บ้างแล้ว รวมทั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ทำงานดีขึ้นมาก ก็ยังต้องยอมรับว่า ยังต้องทำงานต่อไปเพื่อให้ได้ผลที่ดีกว่านี้อีกมาก

สิ่งที่คาดหวังจากการประชุมครั้งนี้ คือข้อเสนอชุดใหม่ในเรื่องการปฏิรูปทางกฎหมาย การกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการให้อำนาจผู้หญิงที่มักจะเป็นผู้รับเคราะห์มากที่สุดในบริเวณที่ประสบภัย

จะมีการนำข้อเสนอชุดนี้ไปพิจารณาในที่ประชุมของสหประชาชาติเรื่องการลดความเสี่ยงจากหายนภัยครั้งที่ 3 ในญี่ปุ่น ต้นปีหน้า