รายงานของสหประชาชาติกล่าวว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียและแปซิฟิคมีรายได้สูงถึง 9 หมื่นล้านดอลล่าร์ต่อปี

รายงานของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา กล่าวว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียและแปซิฟิค มีรายได้สูงมาก ตกปีละราวๆ 9 หมื่นล้านดอลล่าร์

รายงานของ Office on Drugs and Crime หรือที่เรียกย่อๆว่า ODC ของสหประชาชาติ กล่าวว่า กลุ่มอาชญากรรมในเอเชียและแปซิฟิค มีการจัดองค์กรอย่างดี ติดต่อกับแหล่งจัดหาให้ไกลถึงแอฟริกา ส่วนตลาดนั้นครอบคลุมทั่วเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ

สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ทำเงินให้กับกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ จัดเป็นสี่ประเภทใหญ่ คือ ยาเสพติด ซึ่งประกอบไปด้วยเฮโรอินและยาบ้า สินค้าปลอม โดยเฉพาะยาปลอมและกระเป๋าถือ สิ่งแวดล้อม หมายถึงสัตว์ป่าและไม้เถื่อน และการลักลอบขนค้ามนุษย์

รายงานฉบับนี้เรียกชื่อว่า “Transnational Organized Crime in East Asia and the Pacific, A Threat Assessment.” และ Giovanni Broussard เจ้าหน้าที่ของ UNODC ในกรุงเทพฯ ซึ่งร่วมร่างรายงานฉบับนี้ ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Skype กับ VOA กล่าวว่า รายได้ของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ สูงกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของหลายประเทศ มากเป็นสองเท่าของ GDP ของพม่า แปดเท่าของกัมพูชา และ 13 เท่าของลาว

เฉพาะเฮโรอินกับยาบ้า ประมาณว่าทำรายได้กว่าหนึ่งหมื่นห้าพันล้านดอลล่าร์ หริอมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมด เฮโรอินส่วนใหญ่ผลิตในพม่า และขายให้จีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ทั้งพม่าและจีนเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกยาบ้ารายใหญ่

สำหรับสินค้าปลอม ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในจีนเพื่อส่งขายในยุโรปและสหรัฐ ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายที่ทำเงินให้กลุ่มอาชญากรรมมากกว่าอย่างอื่น มากกว่าสองหมื่นสี่พันล้านดอลล่าร์ต่อปี

ส่วนยาปลอม ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในจีนและอินเดีย และมีขายทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้อย่างมาก

รายงานของ UNODC อ้างผลการทดสอบศึกษาทางนิติเวชกรรมที่แสดงให้เห็นว่า 47% ของยาต้านไข้จับสั่น หรือมาเลเรียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นยาปลอม

จีนยังเป็นผู้บริโภคสัตว์ป่าที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายและที่อยู่ในข่ายจะสูญพันธ์ด้วย ส่วนใหญ่ได้มาจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว และกัมพูชา และยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ให้เห็นด้วยว่า ความต้องการยาแผนโบราณและเครื่องประดับในเอเชีย ทำให้มีการลักลอบฆ่าช้างและแรดในแอฟริกาเพิ่มขึ้น

ส่วนผลิตภัณฑ์ไม้เถื่อนนั้น มากกว่า 30% หรือมูลค่าราวๆ หนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านดอลล่าร์มาจากจีนและอินโดนีเซียเป็นส่วนใหญ่

Giovanni Broussard เจ้าหน้าที่ของ UNODC บอกว่า ความพยายามต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้จะประสบความล้มเหลว ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากจีน เพราะจีนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

เขาบอกว่าขนาดของประเทศและอัตราการโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความสำคัญของจีน

สำหรับการค้ามนุษย์นั้น รายงานของ UNODC กล่าวว่า ถ้าวัดเป็นค่าเงินแล้ว ดูไม่มากนัก ประมาณสองพันล้านดอลล่าร์ต่อปี แต่ความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์นั้นสูงจนวัดค่าไม่ได้