อาเซียนกระตุ้นข้อตกลงทะเลจีนใต้ - ยุติความรุนแรงเมียนมา

ผู้นำประเทศสมาชิกประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เรียกร้องให้เกิดความตกลงเรื่องระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ซึ่งอ้างอิงตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งการเร่งเร้าให้เกิดการยุติการต่อสู้ในเมียนมา และการเจรจาสันติภาพระหว่างทั้งสองฝ่าย

แถลงการณ์ของประธานอาเซียนได้สะท้อนถึงความตกลงจากที่ประชุมอาเซียนปีนี้ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว โดยมีหลายประเทศส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อินเดียและเกาหลีใต้

การเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการยกระดับความขัดแย้งซึ่งอาจขยายไปถึงสหรัฐฯ ที่มีสนธิสัญญาผูกมัดในการช่วยเหลือและปกป้องฟิลิปปินส์จากการโจมตีของศัตรู

แถลงการณ์ของอาเซียนเรียกร้องให้เกิดมาตรการสร้างความเชื่อมั่นที่สามารถนำไปสู่ "การลดความตึงเครียดและความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ ความเข้าใจผิดและการคาดคำนวณพลาด" ในประเด็นทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ยังระบุถึง "แนวโน้มด้านบวก" ในการเจรจาเรื่องระเบียบปฏิบัติทางทะเลที่อาจนำไปสู่การระงับข้อพิพาทเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ จีนและอาเซียนตกลงกันเมื่อปี 2002 ว่าจะจัดทำระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ แต่กระบวนการจัดทำอย่างเป็นทางการนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจนกระทั่งปี 2017

สำหรับในประเด็นความขัดแย้งในเมียนมา ที่ประชุมอาเซียนขอให้มีการยุติความรุนแรงในทันที และจัดสร้างสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการเจรจาที่ครอบคลุมระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในเมียนมา นำโดยเมียนมา และเป็นของชาวเมียนมาเอง

ปัจจุบัน คาดว่ามีชาวเมียนมาราว 18.6 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

เวลานี้ สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับกองกำลังแข็งข้อต่อต้าน ถือเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับสมาชิกสมาคมอาเซียนมากที่สุด หลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่เดินหน้าตาม "ฉันทามติ 5 ข้อ" ตามที่อาเซียนได้ตกลงไว้

โดยที่ประชุมอาเซียนยินดีที่ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในช่วงปลายปีนี้

  • ที่มา: รอยเตอร์