ผู้แทนจากประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์และไทย พบปะหารือกันเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซีย ซึ่งลอยปกคลุมท้องฟ้าของมาเลเซียและสิงคโปร์เมื่อเดือนที่แล้ว สร้างความกังวลเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
เมื่อเดือนที่แล้ว เกิดไฟป่าครั้งใหญ่บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย หมอกควันจากไฟป่าลอยปกคลุมท้องฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซียและสิงคโปร์ ก่อให้เกิดมลพิษในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค นายก รมต. สิงคโปร์ Lee Hsian Loong วิจารณ์ว่าปัญหาไฟป่าในอินโดนีเซียครั้งนี้ต้องใช้เวลานานในการแก้ไข เนื่องจากอินโดนีเซียมีพื้นที่ป่าขนาดกว้างใหญ่ไพศาล
ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์พยายามกดดันให้อินโดนีเซียลงโทษผู้ที่เป็นต้นตอของไฟป่าครั้งล่าสุดนี้ แต่ทางอินโดนีเซียโต้กลับว่าไฟป่าดังกล่าวเกิดขึ้นจากโรงงานเกษตรที่มีเจ้าของเป็นชาวมาเลเซียและชาวสิงคโปร์เอง โดยเฉพาะโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มของมาเลเซียบนเกาะสุมาตราที่ยังใช้วิธีเผาตอของต้นปาล์มที่ตัดแล้ว
การประชุมหารือของผู้แทนจากประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์และไทย ในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาไฟป่านั้น เดิมทีใช้ชื่อว่าการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน มีการประชุมต่อเนื่องมา 14 ครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ 2549 ซึ่งครั้งที่ 15 นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ก.ค โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา การประชุมนี้มักไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้งที่สุด ยังไม่มีนโยบายในการควบคุมไฟป่าอย่างเป็นรูปธรรม
บรรดาประเทศเพื่อนบ้านต่างพยายามกระตุ้นให้รัฐบาลอินโดนีเซียรับรองและลงนามในข้อตกลงของอาเซียนว่าด้วยปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนหรือ AATHP ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2545 หลังเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้นซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียกว่า 9,000 ล้านดอลล่าร์ แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาอินโดนีเซียและถูกปฏิเสธไปเมื่อปี พ.ศ 2551 ล่าสุด รมต.ต่างประเทศอินโดนีเซีย นาย Marty Natalegawa ยืนยันว่าได้ยื่นข้อเสนอ AATHP นี้ให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งเมื่อเดือนที่แล้ว
สำหรับข้อตกลง AATHP นี้คือการกำหนดให้ทุกประเทศในอาเซียนยอมรับว่าหมอกควันจากไฟป่านั้นเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศต่างๆในการจัดการร่วมกัน และประเทศที่ร่วมลงนามต้องนำมาตรการป้องกัน ตรวจสอบและเตือนภัยไฟป่าที่เป็นมาตรฐานเดียวกันมาปรับใช้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศด้วย ถือเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกในโลกที่ผูกมัดประเทศสมาชิกให้ช่วยกันแก้ไขและจัดการปัญหาหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าในประเทศใดประเทศหนึ่งร่วมกัน
เรียบเรียงและรายงานโดย ทรงพจน์ สุภาผล