ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้จะเป็นประเด็นใหญ่ในการประชุมอาเซียนและ ASEAN Regional Forum ที่พม่าสัปดาห์นี้

  • Steve Herman

Your browser doesn’t support HTML5

ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้จะเป็นประเด็นใหญ่ในการประชุมอาเซียนและ ASEAN Regional Forum ที่พม่าสัปดาห์นี้

Your browser doesn’t support HTML5

Asean Myanma

รมต.ต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งของสหรัฐ จีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย กำลังเข้าร่วมการประชุมระดับ รมต.ของอาเซียนที่กรุงเนปิดอว์ของพม่าในสัปดาห์นี้ รวมถึงการประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ในวันที่ 10 ส.ค นี้ด้วย

การประชุมระดับ รมต.ของอาเซียนที่กรุงเนปิดอว์ของพม่าในสัปดาห์นี้ มีขึ้นขณะที่อาเซียนกำลังเตรียมเปิดตัวประชาคมทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ AEC ในปีหน้า ซึ่งหมายถึงการลดกำแพงภาษีการค้าและข้อจำกัดด้านแรงงานต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก

และแม้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอาเซียน เกิดจากแรงผลักดันด้านการตลาดและเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันดูเหมือนประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศก็กำลังสร้างความแตกแยกในสมาคมอาเซียน นั่นคือเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ซึ่งสมาชิกของอาเซียนหลายประเทศกำลังมีอยู่กับจีน

Spratly Islands, China Sea Territorial Claims

ผู้ช่วยรมต. ต่างประเทศสหรัฐฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก Daniel Russel ระบุว่าเหตุการณ์เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว ที่จีนตั้งแท่นสำรวจน้ำมันบริเวณหมู่เกาะพาราเซล ในพื้นที่ที่เวียดนามอ้างว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนามนั้น ก่อให้เกิดความตึงเครียดยิ่งขึ้นในทะเลจีนใต้ และชี้ว่าจีนเป็นประเทศใหญ่และมีอิทธิพลอย่างมากในแถบนี้ จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบและความอดทนอดกลั้นมากเป็นพิเศษด้วย เพราะการใช้กำลังทางทหารใดๆ ก็ตามจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อภูมิภาคนี้

ด้าน ดร.ปณิธาน วัฒนายากร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อการนำประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ไปหารือที่การประชุมอาเซียนครั้งนี้ว่า คงจะไม่มีความคืบหน้ามากนักเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ดร.ปณิธานชี้ว่าในอดีตนั้น ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัย ไม่ไว้ใจกันและกัน โดยเฉพาะในด้านการทหารและการเลือกเข้าข้างประเทศมหาอำนาจ ก่อให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายเป็นเวลานานหลายสิบปี

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไทยถูกกดดันจากประเทศตะวันตก เช่นการตัดความช่วยเหลือทางทหาร ส่งผลให้สมาชิกอาเซียนประเทศอื่นต่างกังวลว่า ไทยอาจเลือกเข้าข้างจีนมากขึ้นในข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งดร.ปณิธาน ระบุว่าผู้แทนของไทยควรแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวกับ VOA ว่าไทยควรรับรองกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ว่า จะไม่เลือกยืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จะใช้นโยบายที่รักษาสมดุลความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมและรอบด้าน

ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่พม่าได้เป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน แต่ยังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน ว่าพม่าจะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหนท่ามกลางรายงานเรื่องความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ถึงกระนั้นนักวิเคราะห์บางคนไม่คิดว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ จะกังวลกับปัญหาภายในของพม่าเองมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาอาเซียนมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญคือจะไม่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกอื่นๆ ซึ่งหลักการข้อนี้ถือเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของอาเซียนเอง

รายงานจาก Steve Herman ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล