ความล้มเหลวของสมาคมอาเซียนในการแก้ไขข้อพิพาทไทย-กัมพูชาอย่างสันติยิ่งขับเน้นให้เห็นถึงจุดอ่อนของอาเซียน

  • Brian Padden
    ทรงพจน์ สุภาผล

ความล้มเหลวของสมาคมอาเซียนในการแก้ไขข้อพิพาทไทย-กัมพูชาอย่างสันติยิ่งขับเน้นให้เห็นถึงจุดอ่อนของอาเซียน

การที่สมาคมอาเซียนไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา รวมทั้งการยอมรับข้อเสนอของพม่าให้เป็นประธานสมาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าแม้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ายังคงไม่ได้รับการแก้ไขนั้น ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงบทบาทและอำนาจการทำงานของอาเซียน

อินโดนีเซียเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนท่ามกลางความคาดหวังอย่างสูงว่าอาเซียนจะยกระดับขึ้นเป็นองค์กรที่ทรงพลังทางการเมืองในระดับโลก แต่การที่สมาคมอาเซียนไม่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ได้ก่อให้เกิดข้อสงสัยและความขุ่นเคืองแม้แต่กับบรรดาผู้นำกลุ่มอาเซียนเอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียนายมาร์ตี้ นาทาเลกาว่าประธานสมาคมอาเซียนปีนี้ยอมรับว่ามีความไม่พอใจต่อความคืบหน้าในการจัดการข้อพิพาทไทย-กัมพูชา แต่ก็ยังคงปฏิเสธแนวทางแข็งกร้าวและยืนยันที่จะใช้วิธีทางการฑูตอย่างสันติ รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่าวิธีทางการฑูตนั้นไม่ใช่แค่การกดดันและใช้มาตรการลงโทษ แต่ยังหมายถึงการให้กำลังใจสนับสนุนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่อินโดนีเซีนพยายามทำอยู่ในขณะนี้และต้องรอดูผลลัพธ์ต่อไป

ทางด้านคุณปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ นักวิจัยที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ให้ทัศนะว่า การที่สมาคมอาเซียนไร้ความสามารถในการใช้มาตรการกดดันหรือลงโทษประเทศสมาชิกคือปัจจัยที่ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ไร้ประสิทธิผลและไม่สามารถจัดการข้อขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกได้ ความล้มเหลวในการแก้ไขข้อพิพาทไทย-กัมพูชาอย่างสันติยิ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงข้อจำกัดในอำนาจการทำงานของอาเซียนซึ่งยังพึ่งพาการโน้มน้าวและการฑูตแบบเงียบมากจนเกินไป นายปวินชี้ว่าเนื่องจากอาเซียนไม่มีกลไกกำหนดมาตรการลงโทษ ประเทศสมาชิกจึงรู้สึกว่ามีอำนาจทำได้ตามใจเพราะรู้ดีว่าจะไม่ถูกลงโทษอย่างแน่นอน

นอกจากประเด็นข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของอาเซียนอย่างกว้างขวาง คือเรื่องที่อาเซียนรับรองให้พม่าเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ 2557 แม้ว่าพม่ามีประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยประเด็นนี้ก่อให้เกิดคำถามถึงบทบาทของอาเซียนในการส่งเสริมประชาธิปไตย

ส่วนหนึ่งของปัญหาที่อาเซียนเผชิญอยู่นี้ มาจากความขัดแย้งในตัวกฎบัตรของอาเซียนเอง เพราะในขณะที่อาเซียนสนับสนุนให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันแต่ก็ระบุไว้ด้วยว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก และในส่วนของประเทศสมาชิกนั้นก็มีความแตกต่างหลากหลายทางการเมือง เช่นเวียดนามและลาวปกครองโดยพรรคการเมืองเดียว ส่วนอินโดนีเซียและไทยก็ยังคงมีระบอบประชาธิปไตยที่เปราะบาง

ในกรณีของไทยนั้น อาจารย์ Carl Thayer นักวิเคราะห์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัยรัฐ New South Wales ในออสเตรเลียชี้ว่าทหารยังคงมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดความคาดหมายของผู้ที่ศึกษาและสอนเกี่ยวกับการเมืองไทย เพราะในช่วงปี พ.ศ 2535 ถึง 2549 นั้น ผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่าการเมืองไทยได้ผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญและกำลังมุงหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ทหารอยู่ภายใต้การควบคุม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเช่นนั้น

นอกจากนี้อาจารย์ Thayer ยังได้ยกย่องการทำงานของอินโดนีเซียที่พยายามผลักดันให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ทรงพลังทางการเมือง แม้ในที่สุดแล้วจะยิ่งเป็นการขับเน้นให้เห็นถึงปัญหาและจุดอ่อนของอาเซียนเองก็ตาม