ในช่วงการหาเสียง ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับอิหร่านในทางประนีประนอมหลายครั้ง แต่เมื่อชนะเลือกตั้ง ทรัมป์กลับเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งด้านความมั่นคงแห่งชาติที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่ออิหร่านขึ้นมา
ท่าทีทางการเมืองของทรัมป์ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการที่รัฐบาลเตหะรานสามารถเสริมศักยภาพโครงการนิวเคลียร์จนผลิตวัตถุดิบสำหรับหัวรบได้อย่างรวดเร็ว และยกระดับการเผชิญหน้ากับอิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง
ครั้งหนึ่งในช่วงหาเสียง ทรัมป์เคยพูดถึงอิหร่านไว้ว่า “ผมจะไม่ทำไม่ดีกับอิหร่าน เราจะเป็นมิตรกัน (กับอิหร่าน) ผมคิดว่า อาจจะ หรืออาจจะไม่” และกล่าวด้วยว่า “แต่พวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้”
เหล่าผู้นำของอิหร่านออกมาเตือนในปีนี้ว่า รัฐบาลเตหะรานอาจละทิ้งแนวทางไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หากการดำรงอยู่ของอิหร่านถูกคุกคามจากภายนอก
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีนักข่าวตั้งคำถามว่ายังอยากเจรจากับอิหร่านอยู่หรือไม่ เขาตอบว่า “แน่นอน”
ในรายการพอดแคสต์เมื่อเดือนตุลาคม ผู้ดำเนินรายการถามทรัมป์ว่าอยากเห็นอิหร่านกลับมาปกครองในระบอบกษัตริย์ ที่เคยถูกโค่นล้มไปเมื่อปี 1979 หรือไม่ เขาตอบว่า “เราไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรแบบนั้นทั้งหมด เราบริหาร (ประเทศ) เองไม่ได้ ยอมรับเถอะ”
เมื่ออิหร่านระดมยิงจรวดใส่อิสราเอลเมื่อ 1 ตุลาคม ทรัมป์พูดถึงความเห็นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่บอกอิสราเอลว่าไม่ควรตอบโต้อิหร่านด้วยการโจมตีพื้นที่โครงการนิวเคลียร์
เขากล่าวว่า “ผมคิดว่าเขา (ไบเดน) พูดผิด ตรงนั้นมันคือจุดที่ควรโจมตีไม่ใช่เหรอ” และกล่าวด้วยว่า “คำตอบควรเป็น ‘โจมตี(ที่)นิวเคลียร์ก่อน และห่วงเรื่องอื่นทีหลัง’”
ในรัฐบาลทรัมป์วาระที่หนึ่ง เขาพาสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงเมื่อปี 2015 ที่อิหร่านทำกับชาติมหาอำนาจ ว่าจะควบคุมโครงการนิวเคลียร์แลกกับการลดระดับมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งตอนนั้นทรัมป์กล่าวว่าจะหาแนวทางการกดดันรัฐบาลเตหะรานที่หนักกว่านี้
หนึ่งในรูปธรรมของแนวทางที่ทรัมป์กล่าว คือการกดดันช่องทางส่งออกน้ำมันของรัฐบาลเตหะรานในเวลานั้น รวมถึงการโจมตีทางอากาศที่สังหารผู้นำทหารระดับสูง กาสเซม สุไลมานี ในกรุงแบกแดด
ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ ไม่ได้กล่าวในช่วงหาเสียงว่าจะใช้แนวทางเดิม ทว่า วุฒิสมาชิก มาร์โก รูบิโอ ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทรัมป์ เห็นด้วยกับการมีท่าทีที่ดุดันกับอิหร่าน
เมื่อเดือนตุลาคม เขาโพสต์ในบัญชีแพลตฟอร์ม X ว่า “ด้วยการคุกคามการดำรงอยู่ของระบอบ (อิหร่าน) ผ่านการกดดันอย่างสูงสุด และมาตรการโดยตรงที่ไม่ได้สัดส่วนเท่านั้น ที่เราจะมีโอกาสส่งอิทธิพลและเปลี่ยนแปลงความเคลื่อนไหวทางอาชญากรรมของพวกเขา”
หนึ่งใน ‘ความเคลื่อนไหว’ ของอิหร่านที่พูดถึงกัน คือรายงานจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่ระบุว่า สหรัฐฯ ได้สกัดแผนการที่อิหร่านพยายามจัดหาชาวอัฟกานิสถานมาก่อการลอบสังหารทรัมป์ในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งทางการเตหะรานออกมาบอกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่กล่าวหา
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรครีพับลิกัน ไมเคิล วอลท์ซ ที่ทรัมป์เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในรัฐบาลชุดหน้า กล่าวว่าอิหร่านต้องได้รับผลของการกระทำ
เขากล่าวว่า “เราต้องสื่อสารดัง ๆ และชัดเจนไปยังศัตรูของเรา ถึงเส้นที่ (เรา) จะไม่ยอมทน ซึ่งนั่นจะตามมาด้วยการตอบโต้อย่างใหญ่หลวง เราต้องรื้อฟื้นการป้องปราม”
กระนั้น แม้ประเมินจากท่าทีของทรัมป์ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงสัญญาณจากคนรอบข้าง ก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่ารัฐบาลใหม่ รวมถึงตัวทรัมป์เองจะมีแนวทางเจรจาต่อรองกับอิหร่านอย่างไร รวมถึงท่าทีของสหรัฐฯ ในอนาคต ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไป
- ที่มา: วีโอเอ