เกาหลีใต้คือประเทศหนึ่งที่มีปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก และมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในวิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้คือ การแต่งงานโดยถูกกฎหมายของบุคคลเพศเดียวกัน ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ปัจจุบัน การสมรสเพศเดียวกันนั้นยังไม่ได้รับการรับรองให้ถูกกฎหมายในเกาหลีใต้ และแพทย์ก็ปฏิเสธที่จะใหบริการผสมเทียม (artificial insemination) ให้กับสตรีที่ไม่มีคู่ชีวิตหรือคู่ครองที่เป็นชาย โดยอ้างแนวทางปฏิบัติด้านจริยธรรม
คิม อึน-ฮา และ ปาร์ค โช-ฮยอน คือ คู่รักคู่หนึ่งที่ต้องการแต่งงานและมีลูกกัน แต่การที่ทั้งคู่มีเพศสภาพเป็นหญิงทำให้ความฝันที่ว่าเป็นเรื่องยาก
คิม อึน-ฮา บอกกับรอยเตอร์ว่า คนโสดและคู่รักเลสเบี้ยนมากมายรอบ ๆ ตัวเธอที่ต้องการมีลูก และ “ถ้ามีการยอมรับรูปแบบต่าง ๆ ของการเป็นครอบครัวที่สามารถมีลูกได้ ดิฉันคิดว่า นั่นจะช่วยเรื่องอัตราการเจริญพันธุ์อย่างมาก”
ในเวลานี้ มีเพียงไต้หวันและประเทศไทยเท่านั้นที่กฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน ส่วนที่เกาหลีใต้นั้น คู่รักที่เป็นสมาชิกกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) หลายคนต้องเลือกย้ายไปอยู่ประเทศอื่น หากต้องการแต่งงานและมีลูก
นอกจากนั้น ชุมชน LGBTQ+ ในเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับแรงต้านอย่างหนักจากกลุ่มเคร่งศาสนาหัวอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย เมื่อจัดงาน Seoul Queer Culture Festival ประจำปี โดยกลุ่มดังกล่าวพยายามอย่างหนักเพื่อคัดค้านการผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายต้านการเลือกปฏิบัติด้วย
คิม จี-ฮัก ผู้นำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Diversity Korea กล่าวว่า รัฐบาลกรุงโซลควรยอมรับความหลากหลาย หากมีความจริงจังที่จะแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดที่ตกต่ำของประเทศ
ที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงโซลทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อพยายามหยุดการหดตัวของประชากร ในช่วงที่ความกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางอาชีพและต้นทุนการเลี้ยงเด็กทำให้ผู้หญิงเกาหลีใต้ผลัดวันประกันพรุ่งไม่ยอมมีลูกหรือตัดสินใจที่จะไม่มีลูกเลย
ถึงกระนั้น ประชากรเกาหลีใต้ก็ยังหดตัวต่อกันเป็นปีที่ 4 ในปี 2023
อย่างไรก็ดี มีความคืบหน้าเกิดขึ้นบ้างในด้านการส่งเสริมสิทธิ์ของสมาชิกชุมชน LGBTQ+ โดยในปีที่แล้ว ศาลเกาหลีใต้มีคำพิพากษาสำคัญออกมาที่ให้สิทธิ์การคุ้มครองด้านการแพทย์สำหรับคู่รักชาวเกย์ในประเทศ
แต่แพทย์เกาหลีใต้ก็ยังปฏิเสธที่จะให้บริการผสมเทียมกับผู้หญิงโสดและคู่รักเพศเดียวกัน เนื่องจากแนวทางปฏิบัติจากสมาคมสูติสรีเวชวิทยาเกาหลี (Korean Society of Obstetrics and Gynecology) แม้ว่า คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกาหลีจะออกคำแนะนำให้มีการแก้ไขแนวทางปฏิบัติดังกล่าวตั้งแต่เมื่อปี 2022 แล้ว แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น
- ที่มา: รอยเตอร์