สหรัฐฯ สานสัมพันธ์ไต้หวัน จับตาท่าทีจีน ท่ามกลางวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

A Taiwanese Air Force flag bearer passes by one of the newly commissioned upgraded F-16V fighter jets at Air Force base in Chiayi in Taiwan, Nov. 18, 2021.

ในขณะที่รัสเซียกำลังยกระดับการบุกโจมตียูเครน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งผู้แทนไปยังไต้หวัน ในขณะที่เปิดกว้างช่องทางการสื่อสารกับจีนแผ่นดินใหญ่ไปพร้อม ๆ กัน

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า การตัดสินใจของจีนที่สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนนั้น กำลังสร้าง "ความไม่สบายใจ" ให้กับรัฐบาลกรุงปักกิ่งเอง

และแม้โฆษกของรัฐบาลจีนได้ออกมาเน้นย้ำคำกล่าวหาของรัสเซียต่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (NATO) ว่าเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งด้วยการพยายามรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เชื่อว่า กำลังเกิดรอยด่างบนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียทั้งในด้านการส่งกำลังบุกยูเครนและการตอบโต้จากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

เคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานอาวุโสด้านนโยบายอินโด-แปซิฟิก ในสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า "ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า จีนกำลังอยู่ในจุดที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในความพยายามสานสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับรัสเซีย" และว่า จีนกำลังเป็นกังวลทั้งในส่วนที่หลายประเทศออกมาประณามและใช้มาตรการลงโทษรัสเซีย รวมทั้งความโหดร้ายรุนแรงที่เกิดจากการโจมตีของทหารรัสเซียต่อประชาชนในยูเครนด้วย

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ชี้ว่า สหรัฐฯ คาดหวังว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ทบทวนการรุกรานยูเครนเสียใหม่ "แต่ก็เชื่อว่าจีนจะยังไม่ขยับอะไรมากนักในตอนนี้"

ที่ผ่านมา จีนยังไม่ยอมรับว่าปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนนั้นเป็นการ "บุกรุก" โดยอ้างว่า "จีนเข้าใจความกังวลที่มีเหตุผลรองรับของรัสเซียว่าด้วยประเด็นด้านความมั่นคง"

เมื่อวันจันทร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินปิน ยืนยันความเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซีย

จีนเพิ่มกิจกรรมทางทหารในไต้หวันในช่วงรัสเซียบุกยูเครน

นับตั้งแต่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางการไต้หวันได้รายงานว่ามีเครื่องบินทหารของจีนรุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศของไต้หวันอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน คือระหว่างวันที่ 23-27 ก.พ.

และเมื่อวันเสาร์ เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้แล่นผ่านบริเวณช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังจีนว่าอย่าพยายามกระทำการอุกอาจก้าวร้าวใด ๆ ต่อไต้หวันในตอนนี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนได้ส่งคณะผู้แทนไปยังไต้หวัน ซึ่งประกอบด้วย พลเอกไมเคิล มุลเลน อดีตประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมของสหรัฐฯ, มิเชล ฟลอร์นอย อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเมแกน โอซัลลิแวน อดีตรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว รวมทั้งผู้แทนคนอื่น ๆ ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคมนี้

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า คณะผู้แทนชุดนี้คือการส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นของรัฐบาลสหรัฐฯ ไปยังไต้หวันว่า พันธกิจของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีไบเดนที่มีต่อไต้หวันนั้นยังคงแข็งแกร่งภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรปในขณะนี้

ทางด้าน เคิร์ท แคมป์เบลล์ แห่งสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะยังคงรักษาการมีส่วนรว่มในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในระดับสูงต่อไป พร้อมทั้งจะมีการประกาศเชิญผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันในเร็ววันนี้ด้วย

จับตาท่าทีของจีนในสหประชาชาติ

นักวิเคราะห์กำลังจับตามองท่าทีของจีน หลังจากที่ผู้แทนจีนเพิ่งงดเว้นการออกเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเพื่อประณามการใช้กำลังทหารของรัสเซียในยูเครน

ริชาร์ด โกวาน ผู้อำนวยการฝ่ายสหประชาชาติขององค์กร International Crisis Group ทวีตข้อความว่า จีนเกือบจะเข้าร่วมกับรัสเซียในการใช้สิทธิ์ยับยั้งมติประณามรัสเซียดังกล่าว แต่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนจุดยืนเป็นงดออกเสียง ซึ่งเชื่อว่าเป็นสัญญาณว่าจีนต้องการหลีกเลี่ยงการติดร่างแหไปกับการกระทำของรัสเซียในยูเครน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า แม้การงดออกเสียงของจีนอาจมองได้ว่าเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด แต่ตนยังไม่เชื่อว่าจะส่งผลเสียรุนแรงต่อรัสเซียมากนัก เนื่องจากทางการรัสเซียทราบดีอยู่แล้วว่าจีนจะไม่ออกตัวแรงในเรื่องนี้