ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องรัฐบาลไบเดนเร่งส่งเสริมธุรกิจต่อเรือเพื่อแข่งกับจีน

The Portsmouth Naval Shipyard is seen on Sept. 8, 2021, in Kittery, Maine.

การเดินหน้าขยายอิทธิพลทางทะเลของจีนด้วยการส่งทั้งเรือรบและเรือพาณิชย์ไปตามน่านน้ำต่าง ๆ มากมายอย่างต่อเนื่อง กลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือในสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เร่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศเพื่อไล่จีนให้ทันแล้ว

สถานการณ์ที่ดำเนินอยู่และผู้เชี่ยวชาญเรียกว่าเป็น “ความเหลื่อมล้ำ” นี้ได้นำมาซึ่งข้อเรียกร้องให้มีการผ่านร่างกฎหมาย Ships Act ซึ่งเป็นการล้อชื่อของกฎหมายฉบับใหม่ที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันผลักดันให้สภาคองเกรสผ่านออกมาสำเร็จที่ชื่อ Chips Act อันมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ

ภายใต้ข้อเสนอนี้ กฎหมายที่ชื่อ Ships Act จะเปิดทางให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเหมือนกับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่ต่อเรือในประเทศเร่งต่อเรือใหม่ออกมากว่า 5,000 ลำซึ่งช่วยพลิกกลับสถานการณ์การรบในเวลานั้นได้สำเร็จ

ไบรอัน แมคกราธ กรรมการผู้จัดการ The FerryBridge Group บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า ฐานการต่อเรือในสหรัฐฯ และจีนนั้นเทียบกันไม่ได้เลย และระบุว่า”ฐานอุตสาหกรรมต่อเรือของจีนนั้นมีขนาดมหึมามาก ขณะที่ ฐานอุตสาหกรรมต่อเรือของสหรัฐฯ นั้นมีขนาดเล็กกว่าอย่างเหลือเชื่อ ถ้ามาคำนวณเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจของประเทศและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก

ข้อมูลจากสถาบันค้นคว้า Congressional Research Service ของรัฐสภาสหรัฐฯ ชี้ว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ มีเรือรบอยู่ทั้งหมด 297 ลำ ในปี ค.ศ. 2020 ขณะที่ ตัวเลขของฝ่ายจีนนั้นสูงจนได้ชื่อว่า มีกองเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวน 355 ลำ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2021

FILE - Chinese and other naval ships are seen in the Arabian Sea near Pakistan's port city of Karachi, Feb. 11, 2019.

สำนักงานข่าวกรองกองทัพเรือสหรัฐฯ (Office of Naval Intelligence – ONI) ประเมินไว้ว่า จีนน่าจะเพิ่มจำนวนเรือรบให้เป็น 400 ลำภายในปี ค.ศ. 2025 และเพิ่มเป็น 425 ลำภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วย

ในส่วนของจำนวนเรือพาณิชย์ของสหรัฐฯ นั้น ตัวเลขยิ่งต่ำกว่าของจีนอย่างหนัก โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ด้านการเดินเรือระบุว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีเรือในกลุ่มนี้ที่ล่องอยู่ในน่านน้ำสากลไม่ถึง 80 ลำ ขณะที่ จีนมีอยู่กว่า 5,500 ลำ

รายงานของสถาบัน Brookings ที่ออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้วและอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐฯ รายหนึ่งที่ไม่มีการระบุชื่อ ชี้ว่า สถานการณ์ที่สหรัฐฯ มีกองเรือเล็กเช่นนี้เป็น “จุดอ่อนด้านความมั่นคงของชาติอันแสนชัดเจน” แล้ว ขณะที่ รายงานของ China Maritime Studies Institute ที่ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้วเปิดเผยว่า จีนได้เตรียมพร้อมกองเรือพาณิชย์ของตนให้ทำหน้าที่เป็น “กระดูกสันหลังของระบบโลจิสติกส์” (logistical backbone) เพื่อการบุกไต้หวันแล้ว

เจอร์รี เฮนดริกซ์ นักวิชาการอาวุโสจาก Sagamore Institute และอดีตนาวาเอกกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุในบทความคิดเห็นพิเศษในนิตยสาร National Review ว่า สหรัฐฯ ต้องการ “Ships Act” เช่นเดียวกับกฎหมาย Chips Act ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามรับรองเมื่อไม่นานมานี้

ความสามารถทางอุตสาหกรรมอันจำกัด

เมื่อมองย้อนกลับไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ ผ่านกฎหมาย Emergency Shipbuilding Program ออกมาใช้งาน สหรัฐฯ สามารถต่อเรือใหม่ได้อย่างรวดเร็วเป็นจำนวนถึงเกือบ 6,000 ลำ เพื่อขนส่งทหารและเสบียงคลังต่าง ๆ ไปยังพันธมิตรและพื้นที่สงครามในต่างประเทศได้

เฮนดริกซ์ ระบุด้วยว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ มีอู่ต่อเรือทั้งที่เป็นของรัฐและของเอกชนรวมกันกว่า 50 แห่งที่มีความสามารถในการต่อหรือซ่อมเรือที่มีความยาวเกิน 500 ฟุต แต่ในปัจจุบัน มีอยู่เพียงไม่ถึง 20 แห่ง

CHINA-ECONOMY/

ข้อมูลจาก Statista ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดจากเยอรมนี ชี้ว่า จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้ก้าวขึ้นมาเป็น 3 ประเทศผู้ต่อเรืออันดับต้น ๆ ของโลกเมื่อดูเรื่องของระวางน้ำหนักเรือ

พลเรือโท ไมค์ กิลเดย์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการกองทัพเรือสหรัฐฯ ยอมรับว่า อุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศนั้นไม่สามารถจะต่อเรือเพิ่มได้มากเพราะข้อจำกัดด้านความสามารถในภาคอุตสาหกรรม และกล่าวระหว่างเข้าร่วมงานของ Heritage Foundation เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาด้วยว่า “เรามีความสามารถทางอุตสาหกรรมที่จำกัด หรือพูดอีกอย่างก็คือ เราไม่สามารถต่อเรือออกมาใหม่ได้มากมายเลยในแต่ละปี”

แผนงานการเดินเรือประจำปี ค.ศ. 2022 ของ พลเรือโทกิลเดย์ ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม เรียกร้องให้มีการต่อเรือที่ต้องใช้คนขับออกมาใหม่อีกอย่างน้อย 350 ลำ และแบบปราศจากคนขับอีกราว 150 ลำภายในปี ค.ศ. 2045 โดยรวมความถึงทั้งเรือดำน้ำและเรือที่แล่นบนผิวน้ำ

อุตสาหกรรมต่อเรือจีนที่รัฐบาลหนุนสุดตัว

การก่อกำเนิดของอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือจีนนั้นอาจกล่าวด้วยว่า มาจากการสนับสนุนของรัฐบาลล้วน ๆ โดยผลการศึกษาจาก Center for Strategic and International Studies (CSIS) ระบุว่า มูลค่ารวมของการสนับสนุนที่รัฐส่งมอบให้กับบริษัทจีนในอุตสาหกรรมต่อเรือและอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือนั้นสูงถึงราว 132,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2010 และ 2018

ไมเคิล โรเบิร์ตส นักวิชาการจาก Center for Defense Concepts and Technology แห่ง Hudson Institute กล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจต่อเรือพาณิชย์ของสหรัฐฯ นั้นไม่ได้รับคำสั่งซื้อมากพอที่จะมาแข่งกับคู่แข่งอื่น ๆ ในต่างประเทศ ทั้งยังแทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเลยด้วย

โรเบิร์ตส บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ด้วยว่า คำสั่งซื้อเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สหรัฐฯ ได้รับนั้นมีไม่ถึง 10 ลำ ขณะที่ จีนได้รับมากถึง 1,529 ลำ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในโลก และสูงในระดับเกือบครึ่งหนึ่งของคำสั่งซื้อเรือประเภทนี้จากทั่วโลกด้วย

แต่แม้จะมีเสียงเรียกร้องและสนับสนุนให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้โดยด่วน อเล็กซ์ วูลี ผู้อำนวยการจาก Global Research Institute แห่งมหาวิทยาลัย William and Mary เชื่อว่า สหรัฐฯ จะไม่สามารถเร่งระดับความสามารถการต่อเรือได้อย่างง่ายดาย เพราะโรงงานต่อเรือหลายแห่งที่ปิดตัวลงไปแล้วขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นในการดำเนินกิจการได้อีก

เจอร์รี เฮนดริกซ์ นักวิชาการอาวุโสจาก Sagamore Institute กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมต่อเรือของสหรัฐฯ เริ่มอยู่ในขาลงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ในสมัยของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่ดำเนินหลักการเศรษฐกิจแบบไม่ขอแทรกแซง (laissez-faire) และยกเลิกเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมต่อเรือ ขณะที่ จีนเลือกที่จะยกระดับการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดและเติมเต็มส่วนที่หายไปเพราะการถอนตัวของผู้ประกอบการอเมริกัน

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานการเดินเรือโลก โดยข้อมูลจาก CSIS ระบุว่า จีนเป็นผู้ต่อเรือสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ที่มีการผลิตออกมาจากทั่วโลกในปี ค.ศ. 2019 และยังเป็นผู้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งราว 96% ที่มีใช้อยู่ทั่วโลก รวมทั้ง เครนที่ใช้ยกของออกจากเรือขึ้นฝั่งกว่า 80% ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ