ข้อตกลงการค้าเสรี TPP กลายเป็นประเด็นเห็นต่างในการประชุม APEC ที่กรุงมะนิลา

U.S. President Barack Obama (C) and other leaders of the 21-member Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) summit wave to the media after an official "family photo" in Manila, Nov. 19, 2015.

หลายฝ่ายมองว่า TPP คือส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพื่อต้านทานการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในเอเชียแปซิฟิก

Your browser doesn’t support HTML5

ข้อตกลงการค้าเสรี TPP กลายเป็นประเด็นเห็นต่างในการประชุม APEC ที่กรุงมะนิลา

ปธน.ฟิลิปปินส์ เบนิกโน่ อาคีโน่ เจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ที่กรุงมะนิลา ซึ่งสิ้นสุดลงในวันพฤหัสบดี กล่าวสรุปการประชุมโดยยกย่องความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในด้านต่างๆ ระหว่างการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนการประชุม APEC ปีนี้จะมุ่งเน้นที่เอกภาพของสมาชิกเป็นหลัก แต่ประเทศสมาชิกยังมีความเห็นที่แตกต่างกันไม่น้อยในเรื่องข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้ผลักดัน

การประชุม APEC เป็นการรวมตัวของประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก 21 ประเทศ ซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจโลก ในจำนวน 21 ประเทศ มี 12 ประเทศที่ร่วมอยู่ในข้อตกลง TPP ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก ชิลีและเปรู

และมีหลายประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วม เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย



ปธน.บารัค โอบาม่า พบปะกับผู้นำประเทศสมาชิก APEC ที่เข้าร่วมใน TPP เป็นรายประเทศทั้ง 11 ประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ประเทศเหล่านั้นเร่งผ่านข้อตกลงการค้า TPP

เวลานี้ ปธน.โอบาม่ากำลังเผชิญกับแรงต้านในรัฐสภาสหรัฐฯ เรื่องการรับรองข้อตกลงการค้า TPP และจากสมาชิกพรรคเดโมแครตบางส่วน รวมทั้งอดีต รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี่ คลินตัน ที่กำลังลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแห่ง ปธน.สหรัฐฯ ในปีหน้า

ในการประชุม APEC ครั้งนี้ ปธน.ฟิลิปปินส์ เบนิกโน่ อาคีโน่ ได้พบปะกับ ปธน.โอบาม่า เพื่อแสดงความประสงค์เข้าร่วมในข้อตกลง TPP ซึ่งหมายความว่าฟิลิปปินส์อาจต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญบางส่วน เพื่ออนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมบางอย่างได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปธน.อาคีโน่ แสดงความกังวลว่ามาตรฐานด้านต่างๆที่ TPP กำหนดไว้ รวมถึงมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม อาจสูงเกินไปสำหรับบางประเทศที่ต้องการเข้าร่วม

ทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านข้อตกลงฉบับนี้มองว่า TPP คือส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพื่อต้านทานการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในเอเชียแปซิฟิก

ด้านปธน.จีน สี จิ้นผิง ใช้เวที APEC ในการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก อีกฉบับหนึ่งซึ่งถูกมองว่ามีขึ้นเพื่อแข่งขันกับ TPP ปธน.สี ยังวิจารณ์ด้วยว่าข้อตกลง TPP นั้นเข้มงวดเกินไปและกีดกันประเทศที่ต้องการเข้าร่วม

ส่วน ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ แสดงความกังวลว่าข้อตกลง TPP ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำนั้นมีความลับมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกในระยะยาวได้

แต่ทางผู้สนับสนุนข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership ฉบับนี้ชี้ว่าการกำหนดมาตรฐานขั้นสูงสำหรับประเทศที่จะเข้าร่วม คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการค้าขายและลงทุนอย่างเสรี ซึ่งจะช่วยสร้างงานและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

ถือเป็นการสร้างระบบการค้าระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและกระชับความเชื่อมโยงของประเทศสมาชิกเข้าด้วยกัน


(ผู้สื่อข่าว Brian Padden / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)