นักวิชาการต่างชาติมอง สหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อการประชุมการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ที่กรุงเทพฯ แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะไม่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองก็ตาม
ทัศนะดังกล่าวมาจากข้อสังเกตที่ว่าสหรัฐฯ ตื่นตัวที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า รวมทั้งโจทย์หลักสำคัญในการประชุมอย่างความยั่งยืน เศรษฐกิจสีเขียว และ การฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกหลังโควิด ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทันเหตุการณ์และได้รับความสนใจจากประเทศต่าง ๆ
สำหรับมุมมองเกี่ยวกับไทย นักวิเคราะห์ระบุว่าการประชุมเอเปคอาจส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกได้ “อย่างจำกัด” เมื่อพิจารณาถึงจุดยืนทางการทูตของไทยที่ไม่โดดเด่นนักในช่วงที่ผ่านมา
นักวิชาการมอง เอเปคสำคัญต่อสหรัฐฯ แม้ ‘ไบเดน’ ไม่เข้าร่วม
เสก โสพาล นักวิจัยประจำศูนย์ Democracy Promotion Center ของมหาวิทยาลัยริทสึเมคังเอเชียแปซิฟิก ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า หากประธานาธิบดีไบเดน เลือกเข้าประชุมเอเปคด้วยตนเอง จะมีความสำคัญเนื่องจากสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า และจะมีการจัดพิธีส่งมอบการเป็นประธานต่อในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ การปรากฏตัวของผู้นำชาติต่าง ๆ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองที่สำคัญต่อเจ้าภาพอย่างไทย และอาจเป็นสิ่งที่ผู้นำไทยต้องการที่สุด
โสพาลเห็นว่า การที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่เข้าร่วมการประชุมเอเปคด้วยเหตุผลทางครอบครัวนั้น แม้จะไม่ได้บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อกลุ่มเอเปคน้อยลง แต่อาจบ่งชี้ถึง “ความคลางเเคลงใจทางยุทธศาสตร์” ที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และไทย โดยแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategic Guidance) ที่รัฐบาลไบเดนเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วนั้น ประเทศไทยไม่ได้ถูกกล่าวถึงในเอกสารนโยบายยาว 24 หน้านี้เลย
ในประเด็นนี้ ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย ยืนยันกับวีโอเอไทยว่า ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ มีพลวัตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของไทย เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทางด้านสหรัฐฯ ก็ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเยือนไทยสองครั้งในปีนี้ ได้แก่ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน และแอนโทนี บลิงเคน รัฐนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม
“แม้จะเป็นน่าเสียดายที่ ปธน. ไบเดนไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปคที่ไทยได้ด้วยตนเองเนื่องจากติดภารกิจครอบครัว ฝ่ายไทยพร้อมต้อนรับการเยือนของรอง ปธน. คามาลา แฮร์ริส ในฐานะผู้แทนจากสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุม....โดยไทยจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การประชุมเป็นไปด้วยความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวไทยและประชาชนในเขตเศรษฐกิจเอเปคทั้งหมดต่อไป” ธานีกล่าว
เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เห็นว่า ปธน. ไบเดนมีประเด็นการเมืองในประเทศที่ต้องรับมือในช่วงนี้ เขาจึงอาจต้องการจำกัดจำนวนการประชุมต่างประเทศที่เข้าร่วม และต้องเข้าร่วมการประชุมที่เขาเห็นว่า “สำคัญที่สุด” เท่านั้น
ทางด้านทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์ว่า การเข้าร่วมประชุมของรอง ปธน. แฮร์ริส จะเน้นย้ำถึง “ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และจะระบุถึงเป้าหมายของสหรัฐฯ ต่อการเจ้าเป็นภาพเอเปคในปีหน้า”
ไทยชูการฟื้นฟู ศก. หลังโควิด – ศก. ยั่งยืน ในการประชุมสุดยอดเอเปค
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทยระบุว่า โจทย์หลักของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปคคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19 ให้ครอบคลุมและยั่งยืน และผลักดันให้ผู้นำร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว” ซึ่งเขาระบุว่า สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เมอร์เรย์ ไฮเบิร์ต นักวิชาการอาวุโส โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์ Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ในกรุงวอชิงตัน เห็นด้วยว่า ไทยต้องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยง (connectivity) ที่ติดขัดไปในช่วงการระบาดของโควิด
ทางด้านอาจารย์เรย์มอนด์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กลับมองว่า “เอเปคอาจมีความสำคัญลดลงกว่าแต่ก่อน (เมื่อเทียบกับการประชุมเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น) แต่เอเปคก็ยังมีบทบาทที่ต้องรักษาไว้” โดยเขาระบุว่า ยังมียังมีความจำเป็นของการจัดประชุมเศรษฐกิจเช่นนี้ เพื่อหารือถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาระบบการค้าแบบเปิดเอาไว้
อาจารย์เรย์มอนด์ยังระบุด้วยว่า การที่ไทยผลักดันประเด็นความมั่นคงและเศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว ให้เป็นประเด็นหลักของการประชุมเอเปคครั้งนี้นั้นถือเป็นพัฒนาการเชิงบวก เนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมามักหารือถึงการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นประเด็นเดี่ยว แต่การประขุมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิงแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในฐานะส่วนหนึ่งของวงจรเศรษฐกิจด้วย
เขายังระบุด้วยว่า เขาไม่คาดหวังว่าผลลัพธ์ของการประชุมเอเปคจะก่อให้เกิดประเด็นโต้แย้งในเวทีโลกมากนัก และเห็นว่าสาระสำคัญหลักของการประชุมนั้น นอกจากความยั่งยืนแล้ว ยังมีประเด็นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และการเน้นย้ำความสำคัญของการรักษาระบบการค้าแบบเปิดเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
“ผมคิดว่า ไทยและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ต้องการเข้าร่วมกลุ่มที่สร้างความแตกต่าง(ทางจุดยืน) และถูกกันออกมาจากประเทศอื่น ๆ ในระบบโลก” อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าว
โสพาล แห่งมหาวิทยาลัยริทสึเมคังเอเซียแปซิฟิก เห็นว่า การประชุมเอเปคควรเป็น “พื้นที่ที่ดีที่สุด” ให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ พบปะ หารือ และหาทางออกของความท้าทายระดับโลกต่าง ๆ เช่น ความไม่มั่นคงของระบบผลิตและขนส่งสินค้าระดับโลก ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น และผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ จากสงครามยูเครน
“เอเปคยังควรให้ความสนใจต่อประเด็นที่สำคัญมากกว่า เช่น การรักษาระบบผลิตและขนส่งสินค้าที่มั่นคงและยืดหยุ่น การลงทุนในนวัตกรรมเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง การพัฒนาแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต การเป็นหุ้นส่วนกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และการสนับสนุนกฎสากลเพื่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ” โสพาลกล่าว
นักวิชาการมองอาจสนับสนุนบทบาทการทูตไทยในเวทีโลก “เพียงเล็กน้อย”
ไฮเบิร์ต แห่งศูนย์ CSIS มองว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้ อาจช่วยสนับสนุนบทบาททางการทูตขอไทยในเวทีโลก “เพียงเล็กน้อย”
“ในหลายครั้ง (บทบาทการทูต) ของไทยค่อนข้างขาดหายไปมาสักระยะหนึ่งแล้ว เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และไทยจะต้องจัดการเลือกตั้งในปีหน้าหลังจากที่เป็นเจ้าภาพเอเปค และเรายังไม่รู้ว่ารัฐบาลหน้าจะเป็นใคร จะให้ความสำคัญกับนโยบายในประเทศและต่างประเทศอย่างไร” ไฮเบิร์ตกล่าว
“ผมคิดว่า (การประชุมเอเปค) จะช่วยเพิ่มความโดดเด่น (ทางการทูต) ของไทย แต่ความโดดเด่นนี้จะคงอยู่ก็ต่อเมื่อไทยจับกระแสได้และเล่นบทบาททางการทูตในเวทีสากลต่อไป”
ทางด้านโสพาลเห็นด้วยเช่นกันว่า ไทย “ทำผลงานได้เล็กน้อยมาก” ในการส่งเสริมบทบาททางการทูตระดับโลกของตน “นอกจากยุทธศาสตร์ที่ไม่ชัดเจนแล้ว นโยบายต่างประเทศของไทยยัง ‘หลุดกรอบ’ ไปหลายครั้ง เช่น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ กลับเลือกที่จะงดออกเสียงในการลงมติของสหประชาชาติเพื่อไม่รับรองการผนวกรวมดินแดนของยูเครนโดยรัสเซีย” เขากล่าว
โสพาลเสริมว่า ไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องประสานนโยบายการเมืองในประเทศและนโยบายต่างประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการลงทุนและการส่งออกอย่างมาก
เขายังเห็นว่า การที่ไทยจะใช้การประชุมเอเปคเพื่อส่งสริมภาพลักษณ์ทางการทูตของตนในระดับโลกได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะมอบอะไรให้กับประเทศที่เข้าร่วมได้บ้าง “ส่วนตัวแล้ว ผมไม่คิดว่ารัฐบาลประยุทธ์จะมอบอะไรให้ (ประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วม) ได้มากนัก”
ทางด้านนายธานีระบุว่า ไทยมุ่งเป็น “มรดกสำคัญ” ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ โดยวาง “บรรทัดฐานใหม่ให้เอเปค” ด้วยการมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน
“เพื่อให้การหารือของผู้นำสะท้อนมุมมองของหุ้นส่วนสำคัญของเอเปคได้อย่างครอบคลุม ไทยในฐานะเจ้าภาพฯ ได้เชิญนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มกุฎราชกุมาร และนายฯ ซาอุดีอาระเบีย และ ปธน. ฝรั่งเศส เข้าร่วมการประชุมในฐานะแขกพิเศษ เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับคู่ค้านอกภูมิภาค” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว
ในประเด็นนี้ ไฮเบิร์ต นักวิจัยแห่งศูนย์ CSIS มองว่า การเชิญเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดาระเบีย เป็นแขกพิเศษของการประชุมเอเปคนั้น อาจสร้างความ “แปลกประหลาด” ต่อบรรยากาศการประชุม เนื่องจากเจ้าชายทรงมีประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเมื่อเดือนตุลาคม พระองค์รวมถึงผู้นำชาติสมาชิกองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือ โอเปก ยังประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงวันละ 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นในขณะนั้น
สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ไม่ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว
- รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ ผู้สื่อข่าววีโอเอไทย