ผู้นำของประเทศและเขตปกครอง 21 แห่งจะมารวมตัวกันที่นครซานฟรานซิสโก เพื่อประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC: Asia-Pacific Economic Cooperation)
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 30 ของการประชุมสุดยอดเอเปค โดยมีไฮไลต์คือการพบกันที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีน
ความสำคัญของเอเปค
กลุ่มความร่วมมือนี้มีขนาดเศรษฐกิจรวมคิดเป็น 62% ของจีดีพีโลก และเกือบ 50% ของมูลค่าการค้าโลก
นอกจากนั้นยังมีเขตปกครองที่ไม่ใช่ประเทศ เช่น ฮ่องกง และไต้หวันเป็นสมาชิกด้วย แต่ไม่มีอินเดียอยู่ในกลุ่ม แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
ความตกลงที่เกิดขึ้นจากการประชุมไม่มีผลบังคับผูกพัน
การประชุมสุดยอดจะเกิดขึ้นในวันพุธถึงศุกร์ ส่วนเวทีคู่ขนานของผู้นำภาคธุรกิจเรียกว่า APEC CEO summit จะเกิดขึ้นระหว่างวันอังคารและพฤหัสบดี
สหรัฐฯ และจีนเห็นว่าเวทีการประชุมนี้ความสำคัญต่อการเเข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ และทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่การพบกันแบบทวิภาคีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดนและประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิง ในวันพุธซึ่งจะเป็นการพบกันแบบซึ่งหน้าครั้งที่สองเท่านั้นตั้งเเต่ไบเดนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เจค ซัลลิเเวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะพยายามให้เกิดความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งช่องทางสื่อสารระหว่างกองทัพสองประเทศอีกครั้งหนึ่ง
วัตถุประสงค์ของแผนงานดังกล่าวก็เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการสื่อสาร และการประเมินสถานการณ์ หรือการตัดสินใจพลาด
เป็นที่คาดหมายว่าผู้นำทั้งสองจะหารือกันเรื่องสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ด้วยเช่น ไต้หวัน การรุกรานยูเครนของรัสเซีย สิทธิมนุษยชน การค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ รายหนึ่ง
SEE ALSO: นักวิเคราะห์คาด ปมไต้หวันไม่น่าไปไกลในการหารือ ‘ไบเดน-สี’ประเด็นร้อนและการประท้วงที่เอเปค
น่าจะมีการประท้วงเกิดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก จากทั้งกลุ่มที่สนับสนุนจีนและที่ต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง ตลอดจนผู้มีต้องการเเสดงความเห็นเรื่องสงครามในตะวันออกกลาง และในยูเครน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต่างสร้างรอยร้าวภายในเอเปคเองด้วย
เนื่องจากความเห็นต่างในหัวข้อร้อนเเรง จึงเป็นไปได้สูงว่าแถลงการณ์ร่วมจะมีเนื้อหากลาง ๆ เท่านั้น
ส่วนมุมมองที่แหลมคมอาจถูกสะท้อนผ่านเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ของประเทศที่มีความเห็นไปในทางเดียวกัน
การเข้าร่วมประชุมของรัสเซียเป็นหัวข้อที่สร้างความเเตกแยกในเอเปค อันเนื่องมาจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อปีที่เเล้ว
ประธานาธิบดีรัสเซียวลาดิเมียร์ ปูตินไม่ได้เข้าร่วมประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว และจะไม่มาปรากฏตัวที่ซานฟรานซิสโกในปีนี้เช่นเดียวกัน
SEE ALSO: สื่อนอกรายงาน ‘ปูติน’ ตอบรับคำเชิญเยือนไทย – ‘สี’ กระชับร่วมมือปราบอาชญากรรมข้ามแดนโฟกัสของการประชุมปีนี้
สหรัฐฯ กำหนดว่าหัวข้อหลักของเอเปคปีนี้จะเป็นเรื่องการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี สำหรับทุกภาคส่วน ภายใต้ชื่อ "Creating a Resilient and Sustainable Future for All"
ทางการอเมริกันมุ่งที่จะสร้างความร่วมมือที่เชื่อมต่อประสานกัน มีความนำสมัยด้านนวัตกรรม และคำนึงถึงภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเสรีภาพ ความยุติธรรม และการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนชาวอเมริกันและธุรกิจของประเทศ
เอเปคครั้งนี้ยังต้องการเห็นความคืบหน้าเรื่อง กรอบการค้าที่สหรัฐฯ ริเริ่ม ที่เรียกว่า IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ซึ่งมีทั้งหมดสี่เสาหลัก คือ การค้า ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความโปร่งใสและยุติธรรมทางเศรษฐกิจ
ภายใต้รัฐบาลชุดก่อนของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลอเมริกันถอนตัวออกจากกรอบการค้าเสรี TPP (Trans-Pacific Partnership) ต่อมารัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนจึงได้ริเริ่ม IPEF ขึ้น หากเทียบกับ TPP ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การลดสิ่งกีดขวางทางการค้า IPEF เป็นกรอบการเจรจาที่มีความจำเพาะเจาะจงมากกว่า
SEE ALSO: 'ไบเดน' จะเยือนอินเดียประชุมจี20 - ส่ง 'แฮร์ริส' เข้าหารือเวทีอาเซียนแทนใครเป็นสมาชิกเอเปคบ้าง
สมาชิกเอเปคประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน เเคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีเเเลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม
ตามปกติประธานาธิบดีไต้หวันจะไม่เข้าประชุมเอเปค เมื่อปีที่เเล้ว ในการประชุมสุดยอดเอเปคที่กรุงเทพฯ ไต้หวันส่ง มอร์ริส ชาง ผู้ก่อตั้งบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ TSMC เป็นตัวเเทนผู้นำ และปีนี้เขาก็จะเดินทางทำหน้าที่นี้เช่นกันที่ซานฟรานซิสโก
ชุดธีมเดียวกัน
สีสันหนึ่งหนึ่งของเอเปคที่มีมานานคือชุดธีมที่สะท้อนวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพ ที่มักจะปรากฏที่การถ่ายภาพหมู่ผู้นำในวันสุดท้าย
ประเพณีนี้เกิดขึ้นที่การประชุมเมื่อ 30 ปีก่อนที่เมืองซีเเอตเติลของสหรัฐฯ โดยในครั้งนั้น ประธานาธิบดีบิล คลินตันกำหนดชุดธีมเป็นเสื้อเเจ็คเก็ตแบบนักบินทิ้งระเบิด หรือ bomber jacket
ในปีนี้ ยังคงต้องรอดูถึงวันสุดท้ายว่า บรรดาผู้นำจะปรากฏตัวในชุดธีมใด
- ที่มา: รอยเตอร์