นักวิทยาศาสตร์พบโปรทีนในเลือดหนูหนุ่มช่วยให้หนูสูงอายุกลับวัยได้

Your browser doesn’t support HTML5

Youth Protein


นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐค้นพบว่า โปรทีนในเลือดของหนูหนุ่มในห้องทดลองช่วยให้หนูสูงอายุกลับวัยได้ ผลวิจัยระบุว่า มีโปรทีนอย่างเดียวกันนี้ในเลือดมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้นได้ในบั้นปลายของชีวิต

มีรายงานวิจัยสองชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Science ฉบับล่าสุด

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Harvard อธิบายงานที่ทำในเรื่องนี้ว่า ได้พบว่าโปรทีน GDF 11 ซึ่งมีในระดับสูงในเลือดของหนูหนุ่ม ช่วยให้การทำงานของสมองและกล้ามเนื้อของหนูอายุสูงกว่า ทำงานได้ดีขึ้น โดยดูเหมือนว่า GDF 11 ไปกระตุ้นการสร้างเส้นโลหิตใหม่ๆ ในหนูสูงอายุ

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Harvard ดำเนินการทดลองสองวิธีด้วยกัน

วิธีหนึ่ง คือเย็บผิวหนังของหนูหนุ่มกับหนูสูงอายุเข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือเชื่อมต่อระบบหมุนเวียนของโลหิตของหนูสองตัวนี้ และโลหิตของหนูหนุ่มที่มี GDF 11 ในระดับสูงกว่า ไหลเวียนผ่านหนูทั้งสองตัว

อีกวิธีหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ทีมเดียวกันนี้ ฉีดโปรทีนของเลือดจากหนูหนุ่มให้กับหนูสูงอายุ และพบว่ามีการสร้างเส้นโลหิตขึ้นมาใหม่ในหนูสูงอายุ มีการหมุนเวียนของโลหิตดีขึ้น และเห็นสัญญาณบ่งบอกการกลับวัยในเนื้อเยื่อทุกส่วนที่พิจารณาดู

ศาสตราจารย์ Lee Rubin ซึ่งสอนเรื่องแซลล์ต้นกำเนิด หรือ stem cell และชีววิทยาการฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Biology) ที่สถาบัน Stem Cell ของ Harvard และทีมงานค้นคว้าวิจัยผลกระทบของ GDF 11 ต่อเนื้อเยื่อในสมอง บอกว่า ศัลยกรรมง่ายๆ ที่เย็บผิวหนังของหนูสองตัวติดกัน นำเลือดหนูหนุ่มเข้าไปหมุนเวียนในระบบของหนูสูงอายุ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในสมองของหนูสูงอายุ และทำให้สมองกลับเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวยขึ้นมาอีก

นักวิจัย Amy Wagers ซึ่งร่วมทีมงานอยู่ด้วย พบว่า GDF 11 ซ่อมแซมสภาวะเสื่อมของสมองที่เกิดขึ้นเพราะมีอายุมากขึ้น

ส่วนในการทดลองที่ใช้โปรทีนในเลือด นักวิจัยหญิงและเพื่อนร่วมทีมงานสังเกตเห็นหัวใจของหนูสูงอายุที่โตและอ่อนแอ กลับคืนใกล้ขนาดปกติ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ผลงานวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดความหวังว่า อาจนำผลงานไปประยุกต์หาวิธีบำบัดโรคต่างๆ เช่น อาการหัวใจวายในขณะที่หัวใจคลายตัว หรือ Diastolic Heart Failure โรคสมองเสื่อม และโรคประสาทที่มีอาการสั่น หรือ Parkinson’s ได้ต่อไปในอนาคต

แต่ศาสตราจารย์ Lee Rubin ของมหาวิทยาลัย Harvard เตือนว่า โปรทีนในเลือดไม่ใช่ยาอายุวัฒนะ และเป้าหมายของการวิจัยค้นคว้า คือการปรับช่วงชีวิตให้มีคุณภาพ ไม่ใช่ยืดอายุออกไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือ แม้อาจจะไม่มีอายุยืนยาวมากขึ้น แต่อย่างน้อยก็มีสุขภาพแข็งแรงดีในช่วงชีวิตที่มีเหลืออยู่ และย้ำว่าผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งในที่นี้ คือร่างกายหนู ทำงานได้ดีขึ้น

ในขณะเดียวกัน บทความของทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford ที่ตีพิมพ์ในเวลาเดียวกันในวารสาร Nature รายงานว่า สามารถใช้เลือด หรือ plasma จากหนูหนุ่ม ไปปรับปรุงระบบประสาท และเพิ่มสมรรถนะในการเรียนรู้และความทรงจำ ให้กับหนูสูงอายุได้ด้วย

คณะนักวิจัยจากสองมหาวิทยาลัยกำลังทำงานร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อนำกระบวนการที่ค้นพบไปทดลองกับมนุษย์

ศาสตราจารย์ Lee Rubin ของมหาวิทยาลัย Harvard คาดว่าอาจเริ่มการทดลองกับมนุษย์ได้ในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้านี้