“เฮลโหล!” แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ทักทายเสียงดังฟังชัดพร้อมส่งจูบท่าประจำตัว ท่ามกลางกลุ่มนักท่องเที่ยวบนจุดชมวิวชั้น 86 ของตึกเอ็มไพร์สเตท นครนิวยอร์ก ขณะร่วมถ่ายรูปกับอาร์บอนนีย์ เกเบรียล มิสยูนิเวิร์ส 2022 นางงามตัวแทนจากสหรัฐฯ ตามธรรมเนียมที่ผู้ชนะการประกวดทุกปีจะมาถ่ายรูปที่อดีตตึกที่สูงที่สุดในโลกนี้หลังเข้ารับตำแหน่ง
การประกวดมิสยูนิเวิร์สรอบตัดสินที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา แม้จะเป็นการประกวดครั้งที่ 71 แล้ว แต่ก็ถือเป็นครั้งแรกภายใต้การเป็นเจ้าของเวทีของแอน จักรพงษ์ นักธุรกิจหญิงข้ามเพศวัย 43 ปี ผู้เป็นเจ้าของบริษัท Miss Universe Organization ที่เป็นหญิงข้ามเพศคนแรก และไม่ใช่ชาวอเมริกันคนแรก ท่ามกลางกระแสทั้งชื่นชมและวิจารณ์การจัดประกวด ข้อกังขาผลการตัดสิน ความจำเป็นของเวทีนางงามในโลกยุคใหม่ รวมถึงคำถามทิศทางของหุ้นบริษัทเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป ที่เธอเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอ
วีโอเอไทยสัมภาษณ์พิเศษ “แอน จักรพงษ์” จากนครนิวยอร์กในทุกประเด็นร้อน
ยันผลมิสยูนิเวิร์สยุติธรรม ติงแฟนนางงามยกระดับเป็นผู้ชมคุณภาพ
“คนไทยกับทั่วโลกเราต้องจูนกันให้ติด เพราะว่าพี่น้องชาวไทยเวลาดู มงสาม มงสามค่ะแม่ มงสาม! (มงกุฏมิสยูนิเวิร์ส) แม่ซื้อมาปุ๊บแล้วให้มงสาม คนทั่วโลกมองไงคะ ก็คือซื้อมาโกงเหรอ มันเป็นไปไม่ได้”
Your browser doesn’t support HTML5
แอน จักรพงษ์ เปิดการสนทนากับวีโอเอไทยด้วยการใช้สรรพนามแทนตนว่า “แม่” ขณะกล่าวถึง “มงสาม” หรือ ผู้ครอง มงกุฎนางงามจักรวาล คนที่สาม ที่แฟนนางงามชาวไทยรอคอยมานานกว่า 34 ปี หลังจากที่ ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก คว้ามงกุฎดังกล่าวได้เมื่อปี พ.ศ.2531 (ค.ศ.1988) ขณะที่อาภัสรา หงสกุล คว้าสายสะพายดังกล่าวให้ไทยได้ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965)
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า “แอนนา เสืองามเอี่ยม” มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2022 ไม่เข้ารอบ 16 คนสุดท้ายในการประกวดปีนี้ โดยทำผลงานดีที่สุดด้วยการคว้ารางวัล transformational leadership ซึ่งมาจากการลงคะแนนของผู้ชม ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่า “แอนนา” ที่เป็นหนึ่งในตัวเต็งของหลายสำนักและมีกระแสที่ดีจากผู้ชม ควรได้เข้ารอบ 16 คนสุดท้ายเป็นอย่างต่ำ
“คนไทยมาดูต้องเข้าใจภาษากันว่า...เรากำลังมองมายเซ็ตคนละอย่าง มายเซ็ต (วิธีคิด) ของเราคือเราเข้าไปต้องชนะ เพราะแม่เป็นเจ้าของแล้ว อย่างน้อยก็เข้า 16 เธอเชื่อไหม พอเราเข้า 16 ก็บอกว่า ‘แม่ ทำไมไม่เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย’ พอเข้าห้า ก็ไม่เข้าสาม พอเข้าสาม ก็ไม่เข้าสอง พอเข้าสองปุ๊บ ‘ฉันว่าเขาตอบดีกว่านะ ทำไมไม่มง’…คนไทยไม่ได้ซื้อมาเพื่อให้พวกเธอชนะ...แต่ซื้อมาเพื่อจะทำวิวัฒนาการขององค์กร ในการเก็บกวาด ล้าง สร้าง เสริม ให้เข้าที่เข้าทาง...ความยุติธรรมต้องมี”
“เราเป็นคนดู เรายังไม่เข้าใจมายเซ็ตจักรวาล แล้วเราจะไปถึงจักรวาลได้ไงในการเฟ้นหาผู้หญิงที่เป็นตัวแทนของเรา...อยากจะฝากพี่น้องชาวไทยว่า ต้องเป็นคนดูที่มีคุณภาพด้วย ต้องตามติดสิ่งที่มันมาแล้ว กับการเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการใหม่ ๆ ถ้าเรายังพัฒนาไม่ทัน เราจะแข่งขันไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องนางงาม เรื่องอื่นด้วยเช่นกัน เข้าข้างตัวเองไม่ได้”
“คิดแบบง่าย ๆ เลยนะ (การจิ้มเลือกนางงาม) ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย ทำทำไม แล้วถึงแม้จะได้ผลประโยชน์ มันชัดเกินไปไหม ถ้าทำแบบนี้ก็ทำแบบไม่ฉลาด ชัดไหมว่าเราเป็นเจ้าของ เราก็ให้ของเราเอง ...และไม่ทำอยู่แล้ว เพราะจริยธรรมในชีวิตเราบ่งบอกอยู่แล้วว่าเราไม่ทำ ถ้าจริยธรรมเราไม่ดี มันไม่ส่งเสริมธุรกิจเรานะคะ”
ทั้งนี้ กระแสวิจารณ์ผลการตัดสินไม่ได้มีแค่ในประเทศที่ “อกหัก” ที่นางงามตัวเต็งของตนไม่ได้เข้ารอบเท่านั้น แต่ยังมีกระแสที่สหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงผลประกวดมิสยูเอสเอ 2022 จนมีการระงับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการประกวดเพื่อทำการสอบสวน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
กระแสดังกล่าวกลับมาอีกครั้งเมื่อมิสยูเอสเอคนดังกล่าวคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส เอาชนะนางงามจากประเทศ “สายแข็ง” แถบละตินอเมริกาอย่างเวเนซุเอลาและโดมินิกันไปได้ จนเกิดกระแส “ล็อกมง” อีกครั้ง จากข้อสังเกตที่ว่า บริษัทเจเคเอ็นของแอน จักรพงษ์ เป็นเจ้าของเวทีทั้งมิสยูนิเวิร์สและมิสยูเอสเอ
แอน จักรพงษ์ ยืนยันว่า ผลการประกวดครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับผู้บริหาร และไม่ได้เป็นการทิ้งทวนที่สหรัฐฯ จะส่งไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพการประกวดให้เอลซัลวาดอร์ในปีหน้า
“พี่เป็นเจ้าของการประกวด(มิสยูเอสเอ) แต่ไม่ได้ถือสิทธิการจัดประกวดแล้ว เราให้สัญญากับบริษัทที่สามไป เพราะฉะนั้นเราไม่ได้จัดการประกวด นางงาม (ของมิสยูเอสเอ) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา มิสยูเอสเอไม่เกี่ยวข้องกับเจเคเอ็น ไม่เกี่ยวกับ Miss Universe Organization…เราไม่ได้เข้าข้างผู้ประกวดคนไหน”
“พอลลา (พอลลา ชูการ์ต ประธานของมิสยูนิเวิร์ส) ไม่เกี่ยว เอมี (เอมี เอ็มเมอร์ริช ซีอีโอของมิสยูนิเวิร์ส) ไม่เกี่ยว แม่ไม่เกี่ยว เพราะถ้าเขาเกี่ยว เขาถูกไล่ออกไปแล้วสองคน ถูกไล่ออกแบบไม่ต้องพูดเลย มีสิทธิ์ไล่ออกเลย ถ้าแม่ทำนะ คนทั่วโลกไล่แม่ออกเหมือนกัน”
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. สื่ออเมริกันหลายสำนักรายงานว่า Miss Universe Organization ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวการ “ล็อกมง” โดยซีอีโอของมิสยูนิเวิร์ส ระบุว่า บริษัทบัญชียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นผู้ดูแลและรับรองผลการตัดสินครั้งนี้ และยืนยันว่า อาร์บอนนีย์ เจ้าของสายสะพายมิสยูนิเวิร์ส 2022 เป็น “ผู้เข้าแข็งขันที่ทรงพลัง อุทิศตน” และเป็น “มิสยูนิเวิร์สอย่างชอบธรรม”
ประเมินการจัดงานปีนี้ “ปัง” สวนกระแสดรามา-ตัวเลขเรตติ้ง
“ชอบไหมล่ะ เวทีสนุก สวย ไฟแสงสีเสียง คนเต็มฮอลล์เลย ขายบัตรหมดภายในสามวัน ทุกคนมาเฮ พลังในห้องดีมาก...สังเกตได้ว่าคนทั่วโลกยกย่อง Telemundo (เครือข่ายโทรทัศน์ภาษาสเปนของสหรัฐฯ) ก็ยกย่องว่าเรตติ้งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเขาเลย”
แอน จักรพงษ์ กล่าวเมื่อวีโอเอไทยถามถึงการประเมินผลงานการจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งแรกที่เธอเป็นเจ้าของเวที และยืนยันว่า สิ่งที่ควรพัฒนาคือ “ผู้ชม” ที่ควรยกระดับมาตรฐานการชมนางงามให้เป็นสากลขึ้น
ความเห็นของแอนมีขึ้นท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การจัดงาน โดยเมื่อวันที่ 15 ม.ค. นัท นิสามณี เลิศวรพงษ์ อินฟลูเอนเซอร์ชาวไทย ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอขณะที่เธอเข้าชมการประกวดรอบตัดสิน โดยระบุว่าเธอซื้อตั๋วที่นั่งละ 5 หมื่น จำนวนสามที่ แต่ประสบปัญหาในการเข้าชม เช่น ถูกปิดประตูจนเข้าไม่ได้ในช่วงเริ่มงาน และเมื่อเข้าได้ก็ไม่มีที่นั่งเหลือแล้วจนต้องไปนั่งข้างเวทีริมสุด
แอน จักรพงษ์ ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวโดยตรง แต่เธอได้กล่าวทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ว่า “เห็นน้องบางคนไป ต่อหน้าทักทายแม่อย่างดี พอลับหลังปุ๊บอันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็บ้ง คือหนูขา อย่างสร้างคอนเทน์ที่สร้างแสงให้ตัวเอง มันไม่น่ารักค่ะ เวทีนางงามจักรวาลยังต้องการความเจริญในระยะยาว”
สำหรับตัวเลขเรตติ้ง เว็บไซต์ ustvdb.com ระบุว่า ยอดชมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2022 รอบตัดสิน ผ่านทางเครือข่าย Telemundo เมื่อวันที่ 14 ม.ค. อยู่ที่ 2.4 ล้านคน คิดเป็นเรทติ้ง 0.77%
ทางด้านเรตติ้งของการประกวดปีก่อนหน้านั้น สำนักข่าว Yahoo รายงานว่า ยอดผู้ชมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2021 รอบตัดสินทางสถานีโทรทัศน์ Fox อยู่ที่ 2.7 ล้านคน ลดลงจากยอดผู้ชม 3.6 ล้านคน ที่ชมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 จากรายงานของสำนักข่าว New York Post และลดลงจากยอดผู้ชม 3.8 ล้านคน ที่ชมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2019 ตามตัวเลขในรายงานของ Yahoo
แอน จักรพงษ์ เน้นว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดประกวดครั้งนี้คือ การเสริมสร้างพลังหญิง หรือ women empowerment เช่น การให้พิธีกรที่ดำเนินรายการรอบตัดสินทั้งหมดเป็นผู้หญิง
“ปีนี้ก็เปลี่ยนฉีกเลยเพราะเป็นปีแรกของเรา มันเป็นยุคของเจเคเอ็น ถ้าเราไม่ฉีก ถ้าไม่ทำให้แตกต่าง เราจะมาทำใหม่...ถ้าต้ออย่างนั้นอย่างนี้เหมือนเดิม ก็ให้ไปกรอเทปเก่า...ของใหม่ถ้าไม่มีการพัฒนา ก็จะซื้อมาทำไม”
เบื้องหลัง สัมภาษณ์ “ห้องดำ” ต้อง “ตีโจทย์แตก” “ตรงประเด็น” และ “ทรงพลัง”
“ เราจะเปิดเทป (การสัมภาษณ์รอบห้องดำ) ของน้อง (แอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022) ว่าเปิดดูสิ เราควรจะต้องมีอะไรปรับ พลังมันอยู่ตรงไหน การเอี้ยวเข้าเรื่อง transformational leadership (ผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง) อยู่ตรงไหน force for good (พลังเพื่อสร้างความดี) อยู่ตรงไหน
“เราแค่เล่าเรื่องของเราอย่างเดียวไม่ได้ บางครั้งคนเขาไม่อิน เราต้องเล่าเรื่องของเราแล้วโยงกลับเข้ามากับนโยบายที่ว่าด้วย...แล้วเราทำอย่างไรในการเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นบทเรียนชีวิต กลายเป็นภูมิปัญญาของเรา นี่แหละคือผู้ชนะที่ได้ ถ้าตอบโจทย์ไม่ถูกแล้วบอกว่า ฉันก็ทำเต็มที่ ทุกคนทำเต็มที่เหมือนกันหมดค่ะ ถ้าพูดกันอย่างนี้ก็ไม่มีคำว่าจบ”
“ (นางงาม) ต้องตรงประเด็นในสิ่งที่เวทีค้นหา คือเราต่อสู้ เรียนรู้ ทุ่มเท แต่เราต้องตรงประเด็นเช่นกัน”
แอน จักรพงษ์ กล่างถึงการเตรียมเปิดคลิปวิดีโอการ “สัมภาษณ์รอบห้องดำ” หรือรอบสัมภาษณ์จากคณะกรรมการ ของแอนนาเพื่อประเมินและให้คำแนะนำต่อผู้จัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ เพื่อเป็นแนวทางในการคัดเลือกนางงามตัวแทนจากไทยในอนาคต
เมื่อถามว่า เรื่องราวของแอนนาที่มีพื้นฐานจากครอบครัวคนเก็บขยะ เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับนางงามประเทศอื่น ๆ เจ้าของเวทีมิสยูนิเวิร์สให้ความเห็นว่า “ขายได้ แต่ยังไม่ครบวงจร”
“โตมาจากการเป็นเด็กขยะ เล่า ๆ ก็เข้าใจ คนฟังก็ชื่นชม แล้ว force for good ตรงไหนอะ transformational leadership ตรงไหนอะ แล้วการเป็นคนเก็บขยะหลายประเทศเขาไม่ได้ลำบากเหมือนเรา...เวลาพูดต้องพูดให้ชัด...เราเล่าน่ะ เรารวบตึงตรงประเด็นสำคัญทันหรือยัง เราต้องตีโจทย์แบบไว ๆ นี่คือสิ่งที่ต้องฝึกฝน”
ต่อประเด็นที่มีผู้มองว่า การที่แอน จักรพงษ์ กล่าวถึงจุดแข็งของแอนนาว่ามาจากครอบครัวคนเก็บขยะว่า เป็นการ romanticize หรือ “สร้างความโรแมนติค” ต่อความยากจนหรือไม่ เธอตอบโต้ว่า “เราต้องการให้แรงบันดาลใจให้คนว่า เขามาจากที่ที่คนต่อสู้จนกลายเป็นผู้นำ คนพูดแบบนี้ควรต้องละอายแก่ใจตัวเอง ความเห็นแบบนี้ควรพูดไหม”
ยัน ไม่มีประเด็นการเมืองบนเวทีนางงาม แต่สร้างพลังทางการเมืองได้
“เราไม่พูดถึงการเมืองบนเวที เราพูดถึงแรงบันดาลใจ พูดถึงพลังของเฟมินิสม์ และนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า”
แม้เวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2022 นี้ จะนำเสนอประเด็นหนัก เช่น การเรียกร้องสันติภาพท่ามกลางวิกฤตสงครามยูเครน แต่แอน จักรพงษ์ ก็ยืนยันว่า การประกวดนางงามกับการเมืองเป็น “คนละเรื่อง” และ “ไม่เกี่ยวกัน”
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผลการประกวดมิสยูนิเวิร์สมักสะท้อนถึงบริบทการเมืองโลกในช่วงนั้น เช่น การที่นางงามจากเม็กซิโกคว้ามงกุฎในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 โดยมีสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพการประกวด การประกวดดังกล่าวจัดในปี 2021 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ของ ปธน. โจ ไบเดน ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก ที่เคยเสื่อมถอยลงในยุคของอดีต ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์
“หลายประเทศทีเข้าประกวดก็ไม่ได้ถูกกัน” แอน จักรพงษ์ กล่าว “คนอยากรู้ว่าทำไมเราถึงให้รัสเซียเข้าร่วมประกวด แน่นอนว่า (การประกวดนี้) ไม่ได้เกี่ยวกับแค่รัสเซีย แต่เกี่ยวกับผู้หญิงที่ต้องการทำตามความฝัน ต้องการประกวดบนเวที แล้วเราเป็นใครที่จะขัดขวางความฝันของพวกเธอ...พวกเธอจะต้องสามารถเติมเต็มความฝันและทำตามเส้นทางของตนได้”
แม้จะยืนยันว่าเวทีนางงามไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่แอน จักรพงษ์ เชื่อว่า การประกวดมิสยูนิเวิร์ส จะช่วยส่งสารผลักดันถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้ เช่น การอนุญาตให้มีการเปลี่ยนคำระบุเพศทางกฎหมาย ที่หลายประเทศรวมทั้งไทย ยังไม่มีกฎหมายรองรับ
“Miss Universe Organization ประกาศแล้วว่า หญิงข้ามเพศทุกประเทศมาได้ แต่ต้องทั้งแปลงเพศและเปลี่ยนคำนำหน้าก่อน...เพราะงั้นรัฐบาลอยู่ไหนอะ”
“เชื่อไหมว่านักการเมืองหลายคนที่อยากลงเป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเอาประเด็นนี้ขึ้นมาเล่น แล้วจะบอกว่าฉันจะทำให้พวกเธอ นี่คือสิ่งที่เราบอกคนทั้งโลกว่า ทำเถอะ เพราะเราเกิดผิดร่างเฉย ๆ…ทำให้หลาย ๆ ประเทศมองมาว่าเออ ทำไมเราไม่เปลี่ยนให้เขา Miss Universe Organization คือแพลตฟอร์มที่ช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ เตือนประเทศเหล่านี้ให้สนใจประเด็นดังกล่าว”
แอน จักรพงษ์ เชื่อว่า รัฐบาลไทยจะสามารถผลักดันกฎหมายรับรองการเปลี่ยนคำนำหน้าระบุเพศได้ แต่ยัง “ไม่มีเวลา” โดยเธอเองเตรียมกล่าวถึงประเด็นนี้กับผู้นำไทยด้วยเช่นกัน
“รัฐบาลยุ่งไปหมด ยุ่งหลายเรื่อง รัฐบาลก็ยังอยากจะอยู่ ไม่มีใครอยากจะไป การเลือกตั้งก็กำลังจะมา หลายเรื่องต้องมาก่อน...แต่ ณ วันหนึ่ง มันต้องเกิดขึ้นแน่นอน...เดี๋ยวกำลังจะเจอท่านนายกฯ พอเจอเนี่ย เราก็จะรู้ว่าถึงเวลาแล้วนะ ที่จะต้องเอาประเด็นนี้เข้าสู่รัฐสภา และทำให้มันจบ”
ทั้งนี้ แอน จักรพงษ์ เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิชีวิตบันดาลใจแห่งประเทศไทย โดยมูลนิธิดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แสวงหาความเท่าเทียมทางเพศ และได้ผลักดันร่างพ.ร.บ. รับรองสิทธิหลังการแปลงเพศ มาตั้งแต่ปี 2019 โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมรายชื่อสนับสนุนก่อนส่งเข้ารัฐสภาต่อไป
เวทีเปิดกว้างรับความแตกต่าง แต่ “สมองต้องมี ความสวยต้องมา”
หนึ่งในสารที่การประกวดมิสยูนิเวิร์ส ยุคแอน จักรพงษ์ เน้นย้ำคือ “inclusivity” หรือการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในโจทย์สำคัญของมิสยูนิเวิร์ส คือการใช้ “มาตรฐานความงาม” เป็นหนึ่งในเกณฑ์ตัดสินผู้เข้าประกวด
เมื่อถามว่า “การให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย” กับการใช้ “มาตรฐานความงาม” ในเวทีเดียวกัน เป็นเรื่องย้อนแย้งกันหรือไม่ แอน จักรพงศ์ ยืนยันว่า “ไม่”
“ความเป็นผู้นำที่สามารถสอนและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญ แต่การรักษาความงามก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน คุณต้องแสดงตนว่าคุณดูแลสุขภาพดี ดูแลตนเองดี จริง ๆ แล้วเราทุกคนต่างต้องการเป็นคนสวยทั้งนั้น ในการประกวดเราจะเห็นความสวยในรูปแบบสีผิวที่ต่างกัน นี่คือการยอมรับความแตกต่างของเรา”
“ผู้คนต่างต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในแบบของตนเอง คุณจะหางานที่ดีได้อย่างไร? คุณจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร? เมื่อคุณมองที่การประกวดมิสยูนิเวิร์ส คุณจะได้รับแรงบันดาลใจว่าคุณต้องการทำให้ตัวเองดีขึ้น ต้องการมีคาริสมา (เสน่ห์) มากขึ้น ต้องการมีความเป็นผู้นำมากขึ้น”
แอน จักรพงษ์ ยืนยันด้วยว่า นโยบายสนับสนุนผู้หญิงหลากหลายรูปแบบ ทั้งหญิงข้ามเพศ หญิงที่แต่งงานแล้ว หญิงที่เคยหย่า และหญิงตั้งครรภ์ ให้เข้าร่วมประกวดได้ในยุคของเธอ ถือเป็นครั้งแรกของเวทีมิสยูนิเวิร์สมีการ “เปิดรับความแตกต่าง” มากในระดับนี้
คาด “เจเคเอ็น” รายได้ปีนี้ 3,000 ล้านบาท ไม่กังวลหุ้นลง มั่นใจ “มิสยูนิเวิร์ส” ขายได้ตลอดกาล
แอน จักรพงษ์ กล่าวว่า เธอ “ไม่มาย” ต่อกระแสหุ้นของบริษัท เจเคเอ็น ที่ไม่รับข่าวการเข้าซื้อกิจการมิสยูนิเวิร์ส เนื่องจากหุ้นลงสวนทางกับดัชนีตลาดที่พุ่งขึ้น และยังมีการตั้งคำถามถึงจังหวะการขายหุ้นออกของเธอหลังประกาศซื้อกิจการแล้ว
“ถ้ามัน evergreen (อยู่ตลอดไป) มันคือ evergreen...จักรวาลอยู่มา 71 ปีแล้ว และจะอยู่ตลอดไป” แอนกล่าว “วันนี้มันจะถูกเทขาย พรุ่งนี้มันก็กลับมา...มันก็ขึ้นลงตามจังหวะ ตามกระแส บางคนก็เล่นตามจังหวะ เราก็สนงานของเราแล้วทำให้ดีที่สุด ถ้างานของเราดี ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดีแบบระยะยาว”
“ช่วงโควิดก็หุ้นตก สภาพเงินเฟ้อ และการคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ก็ทำให้ทุกคนหุ้นไม่ดี แล้วเราจะกังวลอะไร พอเวลาดีปุ๊บมันก็ดีหมด”
แอนยังยืนยันถึงความเชื่อมั่นในแบรนด์มิสยูนิเวิร์ส โดยยกกรณีการลงทุนเอลซัลวาดอร์ที่เป็นประเทศเจ้าภาพการประกวดครั้งต่อไปที่ชำระเงิน 400 ล้านบาทให้ทางมิสยูนิเวิร์สแล้ว และยืนยันว่า การวางระบบนิเวศทางธุรกิจที่ดี จะทำให้เกิดการ “ติดตลาด” และส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว
เธอยังประเมินด้วยว่า รายได้ปี 2566 ของ “เจเคเอ็น” จะอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท โดยรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 15-18%
ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยให้เห็นงบการเงินล่าสุดของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 ว่า บริษัทมีสินทรัพย์รวม 8,908.67 ล้านบาท รายได้รวม 1,617.64 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 175.47 ล้านบาท
- รายงานโดยวรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai