Your browser doesn’t support HTML5
ทีมนักวิจัยจากเทคนิคคอล ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เดนมาร์ก (Technical University of Denmark) ได้ออกแบบชุดทดสอบพิษงูอย่างง่าย เพื่อใช้ในงานในภาคสนาม
อีฟวาน ดู๊ดคา (Ivan Doudka) นักวิจัยกล่าวว่า การตรวจใช้ตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยที่ถูกงูกัด เเละอุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงเเค่เครื่องหมุนเหวี่ยงที่ใช้แรงมือเพื่อช่วยแยกตัวอย่างเลือดกับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเท่านั้น
ดู๊ดคา กล่าวว่า เครื่องหมุนเหวี่ยงด้วยแรงมือจะช่วยแยกเซลล์เม็ดเลือดแดงออกจากตัวอย่างเลือด แล้วบรรจุไว้ในหลอดทดลอง เพื่อใส่เข้าไปในช่องอบนาน 30 นาที ก่อนจะนำไปบรรจุลงในภาชนะใส่สารเพื่อนำไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (spectrophotometer) ซึ่งวัดดูการดูดกลืนแสงของสาร และเครื่องนี้ทำงานร่วมกับมือถือสมาร์ทโฟนและแอพในการวิเคราะห์ผลตรวจพิษงูในเลือดผู้ถูกงูกัด
งูพิษทุกชนิดมีพิษที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน เเละมีส่วนประกอบของโปรตีนที่เเตกต่างกันไป
แคทรีน ลาร์สเซ็น (Cathrine Larsen) นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากสามารถระบุลักษณะองค์ประกอบของโปรตีนในพิษงูได้ คุณจะสามารถระบุได้ว่างูพิษที่กัดเป็นงูอะไร
ลาร์สเซ็น กล่าวว่า ทีมนักวิจัยได้ทดสอบโปรตีนจำนวนมากกับพิษของงูหลายชนิด เเละพบว่าพิษงูเเต่ละชนิดมีลักษณะการเกาะตัวของโปรตีนที่แตกต่างกัน เเละข้อมูลนี้ช่วยให้ทีมงานระบุได้ว่าผู้ป่วยถูกงูอะไรกัด
หลังจากนั้นผู้ตรวจจะใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพพิษงูในระยะใกล้ แอพโทรศัพท์มือถือที่ใช้นี้จะช่วยระบุชนิดของงูได้เเละจะเเนะนำให้บำบัดผู้ป่วยด้วยเซรุ่มต้านพิษงูที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
อันเดรส เลาสเท่น (Andreas Lausten) นักวิจัย กล่าวว่า ผลการตรวจนี้จะช่วยแพทย์ตัดสินใจได้เร็วขึ้น เเละช่วยป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ถูกงูกัดได้ เขากล่าวว่าไม่ว่าคุณจะเลือกใช้เซรุ่มต้านพิษงูเเบบใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นใช้กับพิษของงูบางชนิด หรือจะเลือกใช้เซรุ่มชนิดที่ต้านพิษงูได้หลายชนิด หลายสายพันธุ์
คาดว่าผลงานของทีมนักวิจัยในเดนมาร์กนี้จะสามารถช่วยชีวิตคนที่ถูกงูกัดได้ โดยทุกปีมีคนถูกงูกัดราว 5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนในประเทศเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เเละแอฟริกา
มีคนเสียชีวิตจากการถูกงูกัดถึงปีละอย่างน้อยหนึ่งเเสน คน เเละราวสี่เเสนคนถูกตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้
นักวิจัยกล่าวว่า ทีมงานกำลังทำงานเพื่อผลิตเซรุ่มงูเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เขากล่าวว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทีมงานได้เน้นพัฒนาเซรุ่มงูชนิดใช้ทดแทนของจริงที่ทำจากแอนติบอดี้ของคนที่สามารถต้านพิษงูได้หลายชนิด เเละผลดีของการใช้เซรุ่มทดแทนนี้ คือช่วยป้องกันผลข้างเคียงทางลบต่อร่างกายผู้ป่วยจากเซรุ่มที่ได้จากงู
ขณะนี้มีองค์การนานาชาติหลายหน่วยงาน อาทิ องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานเเพทย์ไร้พรมแดน (Doctors without Borders) ที่แสดงความสนใจต่อชุดตรวจพิษงูภาคสนามที่ทีมนักวิจัยในเดนมาร์กพัฒนาขึ้นนี้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)