วิเคราะห์: ผู้เชี่ยวชาญ จับตาสัมพันธ์สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ หลังโสมขาวเปลี่ยนรัฐบาล

South Korea's president-elect Yoon Suk Yeol speaks during a news conference at the National Assembly in Seoul, South Korea, March 10, 2022.

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ ต่างคาดหวังว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ จะกลับมาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ภายใต้การบริหารประเทศของยูน ซอก ยอล ซึ่งชนะการเลือกตั้งผู้นำเกาหลีใต้เมื่อกลางสัปดาห์ ในการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลวอชิงตันเพื่อต้านภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและท่าทีแข็งกร้าวของจีน

ชัยชนะของยูน ซอก ยอล ตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่คว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อวันพุธ ได้จุดความหวังให้บรรดานักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ มองเห็นโอกาสการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้ที่แน่นแฟ้นยิ่งกว่าเดิม

เคน เกาส์ ผู้อำนวยการโครงการ Adversary Analytics จาก CNA ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยไม่แสวงผลกำไร ที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยของสหรัฐฯ มองว่า รัฐบาลแนวทางอนุรักษ์นิยมของยูน จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้แนบแน่นมากกว่ายุคอดีตปธน. มูน แจ อิน

ส่วนอีแวนส์ เรเวียร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในการเจรจากับเกาหลีเหนือ บอกว่า ภายใต้การนำของรัฐบาลยูน สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ อาจจะมีทัศนะที่ตรงกันในหลายประเด็น รวมถึงกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการรับมือกับเกาหลีเหนือ

ว่าที่ประธานาธิบดียูน ซอก ยอล อดีตอัยการสูงสุด วัย 61 ปี ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้จากพรรค People Power Party ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เอาชนะคู่แข่งอี แจ-มยอง อดีตผู้ว่าการจังหวัดคย็องกี ตัวแทนสายเสรีนิยมจาก Democratic Party แบบฉิวเฉียด ที่ 48.6% ต่อ 47.8%

ว่าที่ปธน.ยูน เตรียมก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสี่ของเอเชีย ในวาระ 5 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน กำลังแย่งชิงความเป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกขณะนี้ และเป็นจังหวะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งจากเกาหลีเหนือ จีน รัสเซีย และพิกัดอื่นๆ บนโลกที่เป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม

ทางทำเนียบขาว เปิดเผยกับวีโอเอภาคภาษาเกาหลี เมื่อวันพุธ และแสดงความยินดีหลังชัยชนะของว่าที่ปธน.ยูนว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะร่วมมือกับเกาหลีใต้ ภายใต้การนำของยูน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ มีความแข็งแกร่งในทุกด้าน และว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน พร้อมที่จะทำงานร่วมกับคณะรัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้ เพื่อขยายความร่วมมือใกล้ชิดร่วมกัน

นโยบายต่อเกาหลีเหนือที่สอดรับกับสหรัฐฯมากขึ้น

โรเบิร์ต แมนนิ่ง นักวิชาการอาวุโสจาก Atlantic Council สถาบันคลังสมองของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ให้ทัศนะว่า ภายใต้การนำของว่าที่ปธน.ยูน นโยบายของรัฐบาลกรุงโซลต่อเกาหลีเหนือ จะสอดรับกับแนวทางของรัฐบาลวอชิงตัน ทำให้ความร่วมมือระหว่างสองชาติพันธมิตรนี้ราบรื่นในประเด็นนี้

เช่นเดียวกับเกาส์ ที่มองว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันในการรับมือกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ นั่นหมายถึง การใช้มาตรการกดดันมากกว่าเปิดเวทีการเจรจาเหมือนในยุคอดีตปธน.มูน

ผู้อำนวยการโครงการ Adversary Analytics จาก CNA เพิ่มเติมว่า ท่าทีของทำเนียบสีน้ำเงินของเกาหลีใต้ จะแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือมากขึ้น และสะท้อนว่าเกาหลีใต้ได้เตรียมการและมีศักยภาพในการยับยั้งเกาหลีเหนือได้ ซึ่งสะท้อนท่าทีเดียวกับทำเนียบขาวของสหรัฐฯ

แฮร์รี คาเซียนิส ผู้อำนวยการอาวุโสด้าน Korean Studies จาก Center for the National Interest สถาบันคลังสมองด้านนโยบายสาธารณะในกรุงวอชิงตัน คาดว่า ว่าที่ปธน.เกาหลีใต้คนนี้ จะวางกลยุทธ์ในการจัดการจุดแข็งของเกาหลีเหนือ ทั้งการทุ่มงบซื้อเรือดำน้ำเครื่องบินรบ ขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธวิถีโค้ง เพื่อทัดทานความก้าวหน้าของเกาหลีเหนือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่าที่ปธน.ยูน เรียกร้องให้มีการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ตัวที่สอง เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งจีนคัดค้านมาโดยตลอดเพราะมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อจีน และรัฐบาลปักกิ่งได้ออกมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้ตามมา และว่าที่ผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่นี้ต้องการเปิดการโจมตีเชิงรุกต่อเกาหลีเหนือทันที หากรัฐบาลเปียงยางส่งสัญญาณการโจมตีเกาหลีใต้

ในเรื่องนี้ คาเซียนิส จาก Center for the National Interest ให้ความเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความพยายามของว่าที่ปธน.ยูน ในการขยายสรรพกำลังทางการเกาหลีใต้ ในช่วงที่ ปธน. ไบเดน ต้องรับมือกับท่าทีแข็งกร้าวของรัสเซียต่อยูเครน

อ้างอิงจากบทความที่ตีพิมพ์ใน Foreign Affairs เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ยูน ซอก ยอล ได้ระบุว่า ความเป็นพันธมิตรที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับรัฐบาลวอชิงตันควรเป็นแกนกลางของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลกรุงโซล พร้อมทั้งวิจารณ์นโยบายของอดีตปธน.มูน แจ อิน ต่อเกาหลีเหนือว่า เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือเป็นส่วนใหญ่ บั่นทอนสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้จากความแตกต่างด้านนโยบายต่อเกาหลีเหนือ และยังทำให้บทบาทของเกาหลีใต้ในเวทีโลกลดลง

บทบาทที่มากขึ้นของเกาหลีใต้ในเวทีโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศ คาดการณ์ว่า จะได้เห็นบทบาทของรัฐบาลว่าที่ปธน.ยูน ที่กว้างขวางขึ้น ในฐานะพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ผ่านความร่วมมือระดับพหุภาคีต่างๆ เพราะระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ว่าที่ผู้นำเกาหลีใต้ เป็นผู้สนับสนุนการมีบทบาทของเกาหลีใต้ในกลุ่ม QUAD ที่มีสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลญี่ปุ่น

สก็อต สไนเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการด้านนโยบายสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ จาก Council on Foreign Relations ให้ความเห็นว่า คณะทำงานของปธน.ไบเดนยินดีต่อการเน้นย้ำความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศของว่าที่ปธน.ยูน และตั้งตารอที่จะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเกาหลีใต้ระดับพหุภาคีในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และในบริบทไตรภาคีของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

จีนรอดูท่าทีเกาหลีใต้หลังเปลี่ยนรัฐบาล

ที่น่าสนใจ คือ เกาหลีใต้ภายใต้การบริหารของว่าที่ปธน.ยูน พูดถึงจัดระบบความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับจีน แต่ในมุมมองของสไนเดอร์ เห็นว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งของผู้นำเกาหลีใต้สายอนุรักษ์นิยม ถือเป็นความท้าทายต่อรัฐบาลปักกิ่ง ในแง่ที่ว่า จีนจะมีท่าทีต่อรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีแนวทางสอดรับกับสหรัฐฯ ได้อย่างไร และจีนมีเครื่องมือในการตอบโต้ได้อย่างไรบ้าง

เมื่อถามถึงทัศนะของรัฐบาลปักกิ่งต่อประเด็นการเลือกตั้งปธน.เกาหลีใต้ หลิว เพิงหยู โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน เปิดเผยกับวีโอเอภาคภาษาเกาหลีว่า การเลือกตั้งนี้เป็นกิจการภายในประเทศของเกาหลีใต้ จึงไม่มีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว และว่าจีนและเกาหลีใต้เป็นเพื่อนบ้านที่แยกจากกันไม่ได้และเป็นหุ้นส่วนบนความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับเกาหลีใต้และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีในอนาคต