ผู้นำเก่า เงื่อนไขใหม่: จับสัญญาณเกาหลีเหนือก่อน ‘ทรัมป์’ เถลิงอำนาจ

  • VOA

คิม จอง อึน (ซ้าย) แห่งเกาหลีเหนือ ขณะพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ณ ขณะนั้น ที่ประเทศสิงคโปร์ วันที่ 12 มิถุนายน 2018 (ที่มา: แฟ้มภาพ/AP)

คิม จอง อึน เอ่ยถึงสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง ยืนกรานว่าการพัฒนาศักยภาพด้านนิวเคลียร์ “อย่างไม่มีขีดจำกัด” เป็นสิ่งเดียวที่จะต้านภัยคุกคามจากภายนอกได้

ท่าทีของผู้นำเกาหลีเหนือมีขึ้นระหว่างงานแสดงแสนยานุภาพทางทหารของกองทัพโสมแดง โดยกล่าวด้วยว่า การเจรจาที่มีขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา สะท้อนว่ากรุงวอชิงตันมีเจตนาไม่ดีอันเป็นสิ่งที่ “เปลี่ยนแปลงไม่ได้”

ในสายตาของเอแวนส์ รีเวียร์ อดีตรักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกเเละแปซิฟิก มองว่า คิม จอง อึน คนปัจจุบัน แตกต่างไปจาก ‘คิม’ คนที่ทรัมป์เคยเจอหน้าแบบตัวต่อตัวเมื่อปี 2019 อย่างสิ้นเชิง

รีเวียร์กล่าวว่า “คิม จอง อึน เชื่อว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่า และผมเชื่อว่าหนึ่งในไพ่ที่ถืออยู่คือความสัมพันธ์ที่เพิ่งพานพบกับรัสเซีย”

เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่าเกาหลีเหนือส่งทหารมากกว่า 10,000 นายไปช่วยรัสเซียรบในสมรภูมิยูเครน

Your browser doesn’t support HTML5

จับสัญญาณเกาหลีเหนือก่อน ‘ทรัมป์’ เถลิงอำนาจ

เมื่อเดือนที่แล้ว อันเดรย์ เบลูซอฟ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซียเดินทางไปยังกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือเพื่อขยายขอบเขตข้อตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เบลูซอฟมองว่าช่วยลดความเสี่ยงการเกิดสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี

มาร์ค รุทเทอร์ เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) กล่าวว่าพันธมิตรระหว่างกรุงมอสโกและกรุงเปียงยาง เป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง

รุทเทอร์กล่าวว่า “เทคโนโลยีนิวเคลียร์และขีปนาวุธกำลังหลั่งไหลเข้าไปในเกาหลีเหนือ มันจึงเป็นความเสี่ยงที่เกาหลีเหนือจะใช้มัน ไม่เพียงในแง่การคุกคามเราที่นี่ แต่กับแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ เช่นกัน”

ซิดนีย์ ซายเลอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ ด้านเกาหลีเหนือ มองว่าความร่วมมือของเกาหลีเหนือและรัสเซีย จะเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพโลกมากยิ่งขึ้น

ซายเลอร์กล่าวว่าความร่วมมือนี้กำลังกลายเป็นพันธมิตรทางทหารที่มีอันตรายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่อาจทำให้สงครามในยูเครนขยายวง สั่นคลอนความมั่นคงทั้งบนคาบสมุทรเกาหลีและประชาคมนานาประเทศ

อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองรายนี้เพิ่มเติมว่า ความช่วยเหลือจากรัสเซีย ทั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ เทคโนโลยีการผลิตยุทธภัณฑ์กระสุน ไปจนถึงเชื้อเพลิง อาหาร และเงิน ทำให้เกาหลีเหนือมีความจำเป็นต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ น้อยกว่าเมื่อครั้งรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก

ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ เคยใช้เวลาในวาระแรก ร่วมมือกับผู้นำเกาหลีใต้เพื่อหาทางให้เกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ไม่เพียงเท่านั้นยังได้พบปะกันแบบซึ่งหน้าที่สิงคโปร์และเวียดนามเมื่อปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ

แต่ในช่วงฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐบาลเปียงยางระดมทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ที่มีระยะทำการครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ของแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการแสดงท่าทีจากผู้นำคิม ที่มีไปถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองสหรัฐฯ

รีเวียร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ มองว่า ทรัมป์ในวาระที่สอง ต้องเจอกับเกาหลีเหนือที่ปิดประตูสู่การล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์

รีเวียร์กล่าวว่า “สิ่งที่เกาหลีเหนือตามหามาตลอดคือการเป็นที่ยอมรับ หรืออย่างน้อยก็คือการรับรู้จากสหรัฐฯ ว่าเกาหลีเหนือเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างชอบธรรม และทั้งสองประเทศควรนั่งคุยกันเรื่องการดำรงอยู่ร่วมกัน”

  • ที่มา: วีโอเอ