Your browser doesn’t support HTML5
เป็นเวลาหนึ่งปีที่เเล้วที่ฝูงชนผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์บุกเข้าไปอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน เพื่อยับยั้งการยืนยันผลคะเเนนเลือกตั้งที่เข้าเเพ้ต่อโจ ไบเดน ผู้ที่ในที่สุดรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ
อเมริกาเดินผ่านรอยด่างทางประวัติศาสตร์นี้ มาหนึ่งปีเต็ม และฝากคำถามที่ว่า “ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน" ยังคงเป็นมาตรฐานให้ประเทศอื่นได้หรือไม่ และวิถีการปกครองนี้ กำลังเดินถอยหลังอย่างไรบ้างในประเทศต่างๆ
นักวิเคราะห์กล่าวกับวีโอเอว่าความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยของอเมริกัน ส่งผลลบอย่างมาก ในช่วงเวลาที่การศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยกำลังเสื่อมถอยในหลายประเทศ
โธมัส คาโรเธอรส์ ผู้เชี่ยวชาญแห่ง Carnegie Endowment for International Peace กล่าวว่า "ในภาพรวมนั้น หลายประเทศกำลังมีปัญหาในเวลาเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากสาเหตุเฉพาะของตัวเอง ในตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ปกครอบด้วยระบอบประชาธิปไตย คือประชาชนกำลังไม่พอใจกับสิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อพวกเขา”
การศึกษาโดย Pew Research Center พบว่ามีเพียง 17% ของคนในประเทศที่ Pew ทำการสำรวจ ที่เห็นว่าประชาธิปไตยของสหรัฐฯ นั้น ควรค่าแก่การเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ในขณะที่มี 57% ที่มองว่าครั้งหนึ่งประชาธิปไตยในสหรัฐฯ นั้นเคยเป็นตัวอย่างที่ดี
Your browser doesn’t support HTML5
และ ริชาร์ด ไวค์ แห่ง Pew Research Center บอกกับวีโอเอ ว่าผู้คนมีความกังวลเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวในสหรัฐฯ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวในสหรัฐฯ เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก หรือค่อนข้างใหญ่
ความแตกแยกที่ร้าวลึกในเรื่องเชื้อชาติและบทบาทของรัฐบาลนั้นได้อยู่คู่กับอเมริกามาเป็นเวลานาน ตั้งแต่มีการก่อตั้งประเทศ แต่ ริชาร์ด ไพค์ แห่งสถาบัน Pew Research Center กล่าวว่า ถึงแม้ว่าความแตกแยกจะยังอคงอยู่ ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ในสายตานานาประเทศนั้นดีขึ้นมากตั้งแต่ โจ ไบเดน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์
เขา บอกว่า “ผู้คนชอบไบเดน และนโยบายของไบเดน มากกว่าทรัมป์ พวกเขาพอใจที่ได้เห็นสหรัฐฯ มีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ในโลก และอยากเห็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ใช้วิธีพหุภาคีมากกว่านี้ ดังนั้นเมื่อไบเดนนำอเมริกากลับเข้าร่วมสนธิสัญญาปารีสเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอีกครั้ง เข้าร่วมองค์การอนามัยโลกอีกครั้ง ผู้คนในประเทศอื่น ๆ จึงยินดีให้การต้อนรับมาก”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาประชาธิปไตยกล่าวว่าสหรัฐฯ ต้องมองลึกไปถึงรากของความคับข้องใจของผู้คนในปัจจุบัน หากสหรัฐฯ ต้องการป้องกันไม่ให้ประชาธิปไตยโลกถดถอย
ในเรื่องนี้ โธมัส คาโรเธอรส์แห่ง Carnegie Endowment for International Peace กล่าวว่า “สหรัฐฯ ควรดูประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ที่เผชิญกับความท้าทายเพื่อดูว่าทำไมคนในประเทศเหล่านั้นถึงโกรธเกรี้ยว และไม่มีความสุข และทำไมพวกเขาจึงมีความเสี่ยงที่จะหันไปสนับสนุนผู้นำที่ต่อต้านประชาธิปไตย ถ้าพวกเขาไม่พอใจเพราะเรื่องปัญหาคอรัปชั่น สหรัฐฯ ก็ควรจะช่วยเหลือประเทศนั้นในการปราบปรามคอรับชั่น ถ้าผู้คนโกรธแค้นที่พวกเขาอยู่ชายขอบของระบบเศรษฐกิจ เช่นคนในเปรู และชิลี สหรัฐฯ ก็ควรจะช่วยเหลือพวกเขาในด้านเศรษฐกิจ”
สำหรับคนในประเทศอเมริกา ผลกระทบจากการจลาจล 6 มกราคมเมื่อปีที่เเล้วยังคงเป็นเงาที่ทอดยาวมาสู่ปีนี้
สื่อ The Wall Street Journal ทำสำรวจเมื่อปลายปี 2021 เเละพบว่า ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ร้อยละ 81 ยังรู้สึกดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ และร้อยละ 57 เห็นด้วยว่าเกิดการโกงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ ที่ทำให้ทรัมป์เเพ้ต่อไบเดน ทั้ง ๆ ที่ศึกษาของสำนักข่าวเอพีใน 6 รัฐสมรภูมิ พบว่ากรณีที่ผู้ใช้สิทธิ์โกงการเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ถึง 475 ครั้ง ซึ่งจะไม่สามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้กล่าวทิ้งท้ายว่า การปกป้องระบอบประชาธิปไตยทั้งในสหรัฐ และในต่างประเทศ จะยังคงเป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ และเป็นความท้าทายของประธานาธิบดีไบเดนและรัฐบาลของเขาในปี 2022
เพราะเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง กลางเทอม ซึ่งอาจจะเป็นบททดสอบความศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งของระบบประชาธิปไตยในสหรัฐฯ