แม้ว่าจีนอาจตอบโต้สหรัฐฯ กรณียิงบอลลูนต้องสงสัยว่าเป็นบอลลูนสอดแนมตก หลังจากออกโรงเตือนเรื่อง “ผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมา” แต่นักวิเคราะห์หลายรายเห็นว่าท่าทีใด ๆ ของจีนจะต้องปรับโทนเพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเลวร้ายลงกว่าเดิมในช่วงที่ทั้งสองมหาอำนาจกำลังมองหาทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน
นักวิเคราะห์และนักการทูตในภูมิภาคจับตาการตอบโต้ของจีน หลังสหรัฐฯ นำเครื่องบินรบยิงบอลลูน ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งระบุว่าเป็นบอลลูนตรวจสภาพอากาศ ตกนอกชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ในรัฐเซาท์แคโรไลนา เมื่อวันเสาร์
ในวันอาทิตย์ จีนประณามการยิงบอลลูนดังกล่าวของสหรัฐฯ ว่า “ตื่นตูมเกินไป” พร้อมกล่าวว่าจีนมีสิทธิ์ที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อจัดการกับ “เหตุการณ์เดียวกันนี้” โดยไม่ยกระดับความขัดแย้งได้
กระทรวงต่างประเทศของจีน ระบุในแถลงการณ์เกี่ยวกับการยิงบอลลูนตกของสหรัฐฯ ว่า “เป็นปฏิบัติการเกินความจำเป็นอย่างเห็นได้ชัดและเป็นการละเมิดหลักการระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง” และย้ำยืนยันถึงข้อกล่าวอ้างว่าบอลลูนดังกล่าวใช้สำหรับการวิจัยด้านสภาพอากาศ
นักวิเคราะห์บางรายระบุว่าจะสอดส่องความเคลื่อนไหวทั้งผืนทะเลและน่านฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกทุกระเบียดนิ้วเพื่อจับสัญญาณความตึงเครียด ในช่วงที่ทั้งจีน สหรัฐฯ และพันธมิตร ส่งเรือและเครื่องบินเข้าไปในพื้นที่มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ระหว่างที่ความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจยกระดับขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาจากปมบอลลูนสอดแนม แต่รัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลวอชิงตันกำลังหาทางฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอยู่
ประเด็นเรื่องบอลลูนเหนือทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้สหรัฐฯ ต้องเลื่อนแผนการเยือนกรุงปักกิ่ง โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ซึ่งทริปดังกล่าวเป็นการต่อยอดการฟื้นฟูสัมพันธ์ หลังการพบกันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนกระตือรือร้นที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่สั่นคลอนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยคณะทำงานของปธน.ไบเดนกังวลถึงความสัมพันธ์ที่ลดลงว่าจะกลายเป็นความขัดแย้ง ขณะที่ปธน.สีของจีนกำลังมองหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศหลังโควิดระบาด
SEE ALSO: สหรัฐฯ-จีน เตรียมจัดประชุมสุดยอด ‘ไบเดน-สี’ อีกครั้งปีนี้
ในทัศนะของจ้าว ตง นักวิชาการอาวุโสจาก Carnegie Endowment for International Peace มองว่า เส้นทางการฟื้นฟูความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ยังคงเป็นไปตามเป้า โดยบอกว่า “ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความสนใจร่วมกันในการรักษาเสถียรภาพและบริหารจัดการความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีอย่างรับผิดชอบ”
ด้านคอลลิน โกห์ นักวิจัยด้านความมั่นคงทางทะเลจากคณะการศึกษาระหว่างประเทศของสถาบัน S. Rajaratnam ในสิงคโปร์ คาดว่าจีนจะตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการลาดตระเวณทางทหารของสหรัฐฯ แต่จะไม่เผชิญหน้า
แม้แต่ในช่วงเวลาที่สงบกว่านี้ กองทัพจีนยังติดตามการลาดตระเวณของกองทัพสหรัฐฯ โดยเฉพาะการลาดตระเวณทางทะเล ท่ามกลางความตึงเครียดเกี่ยวกับประเด็นไต้หวันและทะเลจีนใต้
โกห์ เสริมว่า “เราอาจคาดหวังให้จีนจะมีความยับยั้งชั่งใจกับระบบการลาดตระเวณที่มีคนควบคุม” แต่สถานการณ์ดังกล่าวอาจไม่แน่นอนกับระบบที่ไม่มีคนควบคุม โดยเฉพาะหากรัฐบาลปักกิ่งเชื่อว่าจะสามารถควบคุมผลกระทบที่ตามมาได้ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2016 ที่จีนยึดเรือสำรวจใต้น้ำสหรัฐฯ นอกชายฝั่งฟิลิปปินส์ ซึ่งกองทัพเรือจีนได้ส่งคืนเรือสำรวจดังกล่าวให้กับสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา
คริสโตเฟอร์ ทูมีย์ นักวิชาการด้านความมั่นคง จาก U.S. Naval Postgraduate School in California กล่าวว่า การตอบโต้ใด ๆ ของจีนจะเป็นไปอย่างจำกัด “ผมคาดว่าพวกเขาจะประท้วงในระดับพอประมาณ แต่หวังว่าพวกเขาจะเก็บซ่อนเรื่องนี้เอาไว้เหมือนกับซุกไว้ใต้พรม และอาจหยิบขึ้นมาหารือในการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้”
จู เฟิง คณบดีจาก Nanjing University กล่าวว่าทางการสหรัฐฯ ควรหยุด “สร้างกระแส” เพื่อให้แน่ใจว่าการสื่อสารจะกลับมาเป็นปกติตามที่รัฐบาลปักกิ่งได้เรียกร้องไปก่อนหน้านี้ และหวังว่า “รัฐบาลทั้งสองจะก้าวต่อไปโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ กลับคืนสู่ช่องทางการหารือและสื่อสารที่เป็นทางการ”
นักวิเคราะห์บางส่วนยังจับตาความเคลื่อนไหวจากสื่อของทางการจีนและกิจกรรมบนโลกออนไลน์ เพื่อหาเบาะแสเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ที่แข็งกร้าวขึ้นของจีน จากที่สื่อของรัฐบาลจีนกระแสหลักยังปักหลักรายงานแถลงการณ์จากทางการจีนอยู่
ภายใต้การตรวจสอบสื่ออย่างเข้มข้นของจีน มีชาวเน็ตจีนจำนวนมากตั้งคำถามถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเพราะบอลลูนลูกเดียว และหนึ่งในนั้นกล่าวติดตลกว่า “ตอนนี้ จีนสามารถเลิกใช้ดาวเทียมได้แล้ว” ขณะที่ยังมีหลักฐานน้อยมากที่แสดงถึงความขุ่นเคืองของประชาชนจีนจากเหตุการณ์ดังกล่าว
- ที่มา: รอยเตอร์