สารแอมโมเนียมไนเตรท คือสารเคมีชนิดใส ไร้กลิ่น ที่มักถูกใช้ในการผลิตปุ๋ย ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการระเบิดครั้งใหญ่บริเวณท่าเรือในกรุงเบรุต เลบานอน เมื่อวันอังคาร รวมทั้งในอุบัติเหตุด้านอุตสาหกรรมในหลายประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ระเบิดที่โรงงานผลิตปุ๋ยแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัสเมื่อปี ค.ศ. 2013 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งถูกตัดสินภายหลังว่าเป็นการวางแผนอย่างจงใจ และเหตุการณ์ระเบิดรางรถไฟในเกาหลีเหนือเมื่อปี ค.ศ. 2004 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 161 ราย
สารแอมโมเนียมไนเตรทเมื่อผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงจะทำให้เกิดแรงระเบิดมหาศาล ซึ่งมักถูกนำมาใช้ในการระเบิดแบบควบคุมในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง แต่กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มตาลีบัน ก็มักใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการสร้างระเบิดขึ้นมาใช้เองเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ในการวางระเบิดอาคารรัฐบาลแห่งหนึ่งที่เมืองโอกลาโฮมาซิตี้ สหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 1995 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 168 คน โดยมีการระบุว่ามีการใช้สารแอมโมเนียมไนเตรทราวสองตันในการวางระเบิดครั้งนั้น
สำหรับเหตุการณ์ระเบิดครั้งล่าสุดที่กรุงเบรุต นายกรัฐมนตรีเลบานอน ฮัสซาน ดิอับ กล่าวว่ามีสารเคมีอันตรายชนิดนี้มากถึง 2,750 ตัน ถูกเก็บไว้นานหลายปีในโกดังที่ท่าเรือจุดเกิดเหตุ
การกักเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรทอย่างไม่ถูกวิธี เคยเป็นสาเหตุของการระเบิดครั้งใหญ่ที่โกดังสารเคมีแห่งหนึ่งที่เมืองเทียนจินของจีนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 165 คน และเกิดความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเก็บรักษาตามปกติทั่วไปนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สารแอมโมเนียมไนเตรทเกิดการระเบิดได้ถ้าไม่มีความร้อนในระดับสูง เนื่องจากสารเคมีชนิดนี้โดยตัวมันเองนั้นไม่ใช่สารไวไฟ แต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดกระบวนการสันดาปมากกว่า
ศาสตราจารย์จิมมี อ็อกซ์ลีย์ แห่งภาควิชาเคมี University of Rhode Island กล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่า จากวิดีโอระเบิดที่กรุงเบรุต เราจะเห็นกลุ่มควันสีดำและควันสีแดงลอยขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเผาไหม้อย่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งเขาเชื่อว่าอาจเกิดการระเบิดเล็ก ๆ ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่อย่างที่เห็น ส่วนระเบิดเล็ก ๆ นั้นจะเป็นอุบัติเหตุหรือเป็นความตั้งใจนั้นคงต้องมีการสืบสวนต่อไป
ถึงกระนั้น ศาสตราจารย์ผู้นี้ยืนยันว่าสารแอมโมเนียมไนเตรทยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในอุตสาหกรรมการเกษตรและการก่อสร้าง ดังนั้นจึงควรมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการใช้และเก็บรักษาสารเคมีอันตรายนี้
Your browser doesn’t support HTML5