สหรัฐฯ เปิดตัว ‘ไชน่าเฮาส์’ รับหน้าที่จับตาดูกรุงปักกิ่ง

China's Defense Minister General Wei Fenghe speaks at a plenary session during the 19th International Institute for Strategic Studies Shangri-la Dialogue, Asia's annual defense and security forum, in Singapore, June 12, 2022. During the conference, Chines

ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะพัฒนาดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศเปิดตัวกลไกใหม่เพื่อใช้ติดตามดูรัฐบาลกรุงปักกิ่งที่พยายามแผ่ขยายอิทธิพลของตนไปทั่วโลกอยู่ในเวลานี้

กลไกใหม่ของสหรัฐฯ ในการเฝ้าดูความเป็นไปของจีนนี้มีชื่อว่า โครงการ China House (ไชน่าเฮาส์) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของกรุงวอชิงตันเกี่ยวกับสิ่ง แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บรรยายไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่าเป็น วิวัฒนาการของจีนอันเป็น “ความท้าทายระยะยาวที่ร้ายแรงที่สุดต่อความสงบเรียบร้อยภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบ”

เมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศรายาหนึ่งปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของโครงการ China House และกล่าวเพียงว่า โครงการนี้เป็น “ทีมงานจากทั่วทั้งกระทรวงที่จะทำงานประสานกันและนำเสนอนโยบายของกระทรวงในทุกเรื่องและทุกภูมิภาค”

โฆษกกระทรวงรายนี้ ที่ไม่ขอเปิดเผยตัว บอกกับ วีโอเอ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินหน้าและเร่งยกระดับความพยายามบูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มาอยู่กับศูนย์กลางการประสานงานด้านนโยบายใหม่แห่งนี้

China Defense Minister Wei Fenghe, center right, talks with U.S. Secretary of Defense Lloyd Austin, left, during the 19th International Institute for Strategic Studies Shangri-la Dialogue, in Singapore, June 11, 2022.

เราเฝ้าดูอยู่

หลิว เพิ่งหยู โฆษกของสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ส่งอีเมล์ถึง วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ที่ระบุว่า “กุญแจที่จะทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ หลุดพ้นจากสภาพการณ์ในปัจจุบัน ก็คือ การที่ฝั่งสหรัฐฯ ละทิ้งความบ้าคลั่งที่จะเล่นเกมผลรวมศูนย์ (zero-sum game) เลิกครอบงำตัวเองด้วยความพยายามที่จะตีวงและควบคุมจีน และหยุดบ่อนทำลายความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เสียที”

โฆษก หลิว ยังกล่าวด้วยว่า “เราเข้าใจสิ่งที่รัฐมนตรี (แอนโทนี) บลิงเคน พูดว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการความขัดแย้งหรือสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน และสหรัฐฯ ไม่ได้พยายามปิดกั้นจีนจากการขึ้นมามีบทบาทเป็นประเทศมหาอำนาจ หรือยับยั้งจีนไม่ให้ขยายเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง ต้องการจะอยู่ร่วมกับจีนโดยสันติสุข และเราจะเฝ้าดูสิ่งที่สหรัฐฯ จะทำจากนี้”

ขณะเดียวกัน หู สีจิ้น อดีตบรรณาธิการใหญ่สื่อ Global Times ของรัฐบาลจีนและนักวิเคราะห์ข่าวผู้ทรงอิทธิพลของสื่อนี้ ไม่คิดว่า โครงการ China House ของสหรัฐฯ จะมีความสำคัญอะไรมากมาย

ก่อนที่โครงการใหม่นี้จะได้รับการเปิดตัวออกมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา นิตยสาร Foreign Policy ตีพิมพ์บทความเมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้วซึ่งระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนด้วยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคจีนเข้ามา “เฝ้าดู” ความเป็นไปต่าง ๆ เพิ่มอีก 20-30 นายที่จะไปประจำการตามสำนักงานภูมิภาคต่าง ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศสสหรัฐฯ

การเปิดตัวโครงการนี้อย่างเป็นทางการเกิดขึ้น ขณะที่ สหรัฐฯ กำลังเร่งเดินเครื่องการทำงานด้านการทูตเพื่อตอบโต้ความพยายามของจีนที่จะเข้ามามีบทบาทในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ เพิ่งออกทัวร์ประเทศเล็ก ๆ ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้เป็นเวลา 10 วัน หลังกรุงปักกิ่งลงนามข้อตกลงด้านความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อเดือนก่อนหน้าไป

การเคลื่อนไหวของกรุงปักกิ่งในครั้งนั้นทำให้กรุงวอชิงตันต้องเร่งหันมาให้ความใส่ใจต่อประเทศหมู่เกาะต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและเอเชียแปซิฟิกอย่างเร่งด่วน เพื่อสกัดกั้นการรุกคืบของจีน ซึ่งสอดคล้องกับคำร้องขอของ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้าหาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น ระหว่างการเข้าพบหารือที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม

U.S. President Biden meets with Prime Minister Ardern in Washington

ทำไมสหรัฐฯ ถึงตัดสินใจตั้งทีมงานใหม่

ทั้งนี้ ผู้ที่คร่ำหวอดกับสถานการณ์ทางการเมืองในกรุงวอชิงตันเชื่อกันว่า สิ่งที่จะชี้วัดว่าประเด็นใด ๆ มีความสำคัญหรือไม่เพียงใด ก็คือ การจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรใหม่ขึ้นมาดูแลเรื่องนั้น ๆ ขณะที่ อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ บางรายและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลปธน.ไบเดนต้องการจากการเปิดตัวโครงการ China House คือ การประกาศจุดยืนของประเทศในด้านทิศทางความสัมพันธ์กับจีนจากนี้ไป

ดักลาส พาล นักวิชาการจาก Carnegie Endowment for International Peace ในกรุงวอชิงตัน บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพยายามแสดงให้เห็นถึงจุดยืนของตนต่อการประเมินทั้งจากคนทั่วไปและจากภายในรัฐบาลเอง ที่ชี้ว่า จีนนั้นคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในยุคนี้

ส่วน แซ็ค คูเปอร์ นักวิชาการอาวุโสจาก American Enterprise Institute ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นในเรื่องนี้ผ่านอีเมล์ที่ส่งให้กับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ซึ่งระบุว่า การตั้งหน่วยงานใหม่นี้ คือ วิธีที่กรุงวอชิงตันใช้ในการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ จริงจังกับประเด็นอิทธิพลจีนเพียงใด

ไมลส์ หยู นักวิชาการอาวุโสและผู้อำนวยการ China Center แห่ง Hudson Institute กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ความริเริ่มนี้ของสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องที่ดี และน่าจะเกิดขึ้นมานานแล้ว และการเปิดตัวโครงการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพความจริงเกี่ยวกับบทบาทของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ดีน เชง นักวิชาการอาวุโสจาก Heritage Foundation แนะว่า สหรัฐฯ ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านจีนมาทำงานด้านนี้มากกว่าที่กระทรวงการต่างประเทศรับหน้าที่ดูแลอยู่ โดยระบุว่า สิ่งที่ตอนอยากจะเห็นก็คือ การที่กระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีนจากหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และองค์การนาซ่า เพื่อรับมือกับความท้าทายจากจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจที่มีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่ว

เชง บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ควรคิดให้นอกกรอบด้านการทูตหรือการประชุมสุดยอด และว่า ในเวลานี้ จีนเองคงไม่ได้คิดจะเข้าชนกับสหรัฐฯ แม้แต่ในกรณีเรื่องไต้หวัน แต่น่าจะตั้งเป้าเป็นคู่แข่งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และเทคโนโลยี ดังนั้น โครงการ China House น่าจะเป็นพัฒนาการที่ดีสำหรับสหรัฐฯ ในการชิงไหวชิงพริบเพื่อต้านอิทธิพลจีนจากนี้ไป

  • ที่มา: วีโอเอ