Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อเร็วๆ นี้มีบทความในหนังสือพิมพ์ New York Times เขียนโดย Julie Scelfo ที่อธิบายถึงความกดดันที่นักศึกษาอเมริกันโดยเฉพาะผู้ที่มาจากชนชั้นกลาง ได้รับจากบิดามารดา ซึ่งมีความคาดหมายว่าเมื่อลูกเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้แล้ว จะต้องประสบความสำเร็จและความสุขในชีวิต
เด็กนักเรียนในอเมริกาจำนวนมากมุ่งมั่นใฝ่ฝันที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งของประเทศ กระบวนการที่จะทำให้ความใฝ่ฝันนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ ต้องอาศัยความพยายามของทั้งครอบครัว
แต่มีปัญหาที่นักศึกษาและครอบครัวอาจเตรียมตัวล่วงหน้าไม่ได้ หรือเตรียมได้ไม่พอ คือ การปรับตัวของนักศึกษารับสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งของประเทศ ซึ่งนอกจากจะเต็มไปด้วยการแข่งขันในห้องเรียน เพราะทุกคนที่เข้าไปได้ เป็นนักเรียนเกรดเอกันทั้งนั้นแล้ว นักศึกษาเหล่านี้ยังต้องสามารถเข้าใจตัวเอง เพื่อปรับความคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ด้วย
นักศึกษาที่ปรับตัวไม่ได้บางส่วนกลายมาเป็นสถิติที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่อยากจะพูดถึงในอดีต สถิติที่ว่านี้คือการกระทำอัตวินิบาตกรรม เฉพาะในปีการศึกษานี้ มหาวิทยาลัย Tulane ในรัฐ Louisiana สูญเสียนักศึกษาไปแล้วสี่คน และในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2009-10 มีนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย Cornell ในรัฐนิวยอร์คฆ่าตัวตาย 6 คน
ผู้เขียนบทความหยิบยกแนวโน้มหนึ่งที่อาจช่วยอธิบายว่า ทำไมคนหนุ่มคนสาวเหล่านี้จึงคิดจบชีวิตตนเอง แนวโน้มที่ว่านี้คือการแสดงให้คนรอบข้างคิดว่า ตนเองสามารถจัดการกับการเรียนและชีวิตนอกห้องเรียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่ต้องออกแรงให้เหน็ดเหนื่อย หรือจะว่า นอกจากจะเก่งและสวยแล้ว ยังเป็นคนที่ใครๆ ก็อยากรู้จักเป็นเพื่อนด้วย
อาการที่เกี่ยวโยงกับแนวโน้มที่ว่านี้ ที่มหาวิทยาลัย Stanford ในรัฐ California เรียกว่า ‘Duck Syndrome’ หรือ ‘อาการเป็นเป็ด’ เพราะเวลาเป็ดอยู่ในน้ำ ดูจะเคลื่อนตัวได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้ามองดูใต้น้ำ จะเห็นว่าตีนเป็ดต้องทำงานตลอดเวลา
ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania เรียกอาการอย่างนี้ว่า ‘Penn Face’ Penn เป็นชื่อย่อของมหาวิทยาลัย ส่วน Face คือหน้า ซึ่งหมายความว่า ข้างนอกแสดงความสุข ความมั่นใจในตนเอง แต่ข้างในอาจจะเต็มไปด้วยความทุกข์หรือความกดดัน หรือจะพูดว่า ‘หน้าชื่นอกตรม’ ก็คงได้
อาการอย่างนี้เป็นความกดดันอย่างสูงต่อนักศึกษาที่เพิ่งเริ่มชีวิตในมหาวิทยาลัย และ Gregory T. Eells ผู้อำนวยการบริการให้คำปรึกษาและจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Cornell ให้ความเห็นว่า สื่อสังคมที่นิยมกันมากในเวลานี้ ช่วยทำให้มีความเข้าใจผิดมากขึ้นในหมู่นักศึกษาว่าคนอื่นๆ เก่งกว่าหรือดีกว่าตน เมื่อเห็นข้อความและรูปที่เพื่อนนักศึกษาโพสต์ออนไลน์เกี่ยวกับความสำเร็จของตน หรืองานปาร์ตี้สนุกสนาน
แนวโน้มอีกอันหนึ่งที่นักจิตวิทยาและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนักศึกษาระบุว่าให้โทษมากกว่าจะเป็นประโยชน์ คือความเอาใจใส่จากบิดามารดา
มีบิดามารดาจำนวนไม่น้อยที่เอาใจใส่ลูกมากถึงขนาดไปช่วยขึ้นทะเบียนเลือกวิชาเรียน ติดต่ออาจารย์และเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาของลูก และมีไม่น้อยที่เพิ่มระดับความเกี่ยวข้องไปเป็นผู้ถากถางทุกอย่างที่คิดว่าขวางหน้าความสำเร็จของลูก ศัพท์ที่ใช้เรียกบิดามารดาอย่างนี้ คือเพิ่มระดับจาก Helicopter Parents ไปเป็น Lawn-Mower Parents หรือเครื่องตัดหญ้า และผลที่ตามมาคือนักศึกษาที่คิดและช่วยตนเองไม่ได้
อัตราการกระทำอัตวินิบาตกรรมในหมู่ผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ในอเมริกาเพิ่มขึ้นไม่มากนักแต่สม่ำเสมอ จาก 9.6 คนต่อทุกๆ หนึ่งแสนคนในปี 2007 มาเป็น 11.1 คนในปี 2013 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค
แต่ผลการสำรวจศูนย์ให้คำปรึกษาตามมหาวิทยาลัยระบุว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของนักศึกษาที่ไปรับบริการ มีปัญหาทางจิตอย่างรุนแรง ซึ่งเพิ่มขึ้น 13% ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา และอาการที่แสดงออกให้เห็นมากที่สุด คือความวิตกกังวลและความเศร้าซึม
อย่างไรก็ตาม หลายมหาวิทยาลัย รวมทั้งมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการให้คำปรึกษาแนะนำและการพัฒนาสุขภาพจิต และเมื่อต้นปีนี้ เริ่มมีการโพสต์ภาพ ‘ugly selfies’ ทาง Instagram และ Facebook เป็นการตอบโต้ภาพลักษณ์ของความสวยงาม สมบูรณ์แบบ
บริการเหล่านี้ได้แพร่พระจายไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีนักศึกษาไปใช้บริการเพิ่มขึ้นตลอดมา แต่ก็เป็นที่เชื่อได้ว่า ยังจะต้องทำงานในเรื่องนี้กันต่อไปอีกมาก