Your browser doesn’t support HTML5
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กรอบนโยบายด้านการต่างประเทศของพรรครีพับลิกัน ถูกกำหนดโดยแนวทางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ในช่วงเวลาดังกล่าวสหรัฐฯ ตั้งคำถามต่อความสำคัญองค์กรระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายการค้าและการทหาร ที่คล้องจองกับสโลแกน America First ที่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งบางครั้งเพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับประเทศอื่น
เนื่องจากวาระเร่งด่วนเรื่องโควิด-19 รวมถึงมาตรการด้านการรักษาระยะห่างในปีนี้ พรรครีพับลิกันไม่สามารถจัดประชุมตามปกติ เพื่อร่วมกันเขียนแนวนโยบายใหม่ ในการหาเสียง
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ ทางพรรคกล่าวว่า วาระสำคัญแห่งชาติที่เป็นไปตามแนวทางของประธานาธิบดีทรัมป์จะได้รับการสนับสนุนจากพรรค
คำขวัญ America First ของทรัมป์ ที่ถูกเริ่มใช้ เมื่อ 4 ปีก่อน ยังคงได้รับการเน้นย้ำในการหาเสียงปีนี้ของผู้นำสหรัฐฯ เพื่อสมัครเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2
และเมื่อพิจารณาถึง ข้อมูลที่ทางคณะหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ เปิดเผยออกมาจะพบว่า หากเขาได้รับเลือกตั้ง รัฐบาลในอนาคตของทรัมป์ตั้งเป้าหมายว่าจะ “นำทหารอเมริกันกลับประเทศ” และ “หยุดการพึ่งพาจีน”
ในส่วนของนโยบายต่อจีน พรรครีพับลิกันน่าจะพูดถึงจีนต่อเนื่องในการหาเสียงปีนี้ โดยหัวข้อนี้เป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่ง เมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกา นอกจากนี้ จีนยังตกเป็นเป้าการโจมตีเรื่องการบริหารจัดการกับโคโรนาไวรัส ในการหาเสียงของทรัมป์ด้วย
ขณะนี้ สงครามการค้าระหว่างอเมริกาและจีน ผ่านช่วงตอบโต้กันไปมาด้วยมาตรการขึ้นภาษี มาสู่ขั้นเจรจาลดความตึงเครียด ในเฟส 2
แม้จะผ่านการคุยกันเพื่อบรรเทาปัญหาไปในเฟสเเรก ผู้นำสหรัฐฯกล่าวเมื่อเดือนที่เเล้วว่า เขายังไม่พอใจที่จีนแพร่โควิด-19 และความตกลงทางกาารค้าก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากนักสำหรับเขา
และมากไปกว่านั้น สมาชิกพรรครีพับลิกันบางรายต้องการเห็นผู้นำสหรัฐฯดำเนินนโยบายที่กดดันจีนมากกว่านี้
เอ็ดวาร์ด อัลเดน นักวิจัยอาวุโสแห่งองค์กร Council of Foreign Relations กล่าวว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯและจีน น่าจะมีมากขึ้น
เขากล่าวว่าพรรครีพับลิกันมองจีนไม่ใช่เป็นเพียงคู่แข่งทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง
SEE ALSO: สหรัฐฯ ยกระดับนโยบายเชิงรุกต้านอิทธิพลจีนในเอเชียคณะหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งเป้าไว้ว่าจะสร้างงานในภาคการผลิต 1 ล้านตำแหน่งในสหรัฐฯ แทนที่จะใช้เเรงงานในจีนผลิตสินค้า และรัฐบาลอเมริกันยังสกัดไม่ให้หน่วยงานรัฐจ้างบริษัทที่ส่งต่องานที่น่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯไปยังจีน
สำหรับนโยบายด้านการทหาร แนวทางของรัฐบาลทรัมป์ หากอยู่ในตำแหน่งสมัยที่สอง จะสะท้อนคำมั่นเรื่องการ “ยุติสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น” และนำทหารอเมริกันกลับมาสู่มาตุภูมิ
เป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามดึงสหรัฐฯออกจากสงครามในอิรัก ซีเรีย และอัฟกานิสถาน แต่เขาประสบความยากลำบากในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ สตีเวนสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ แห่ง School of Advanced International Studies ของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของพรรคเดโมเเครตหรือรีพับลิกัน ผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีต่างต้องการลดจำนวนทหารในความขัดเเย้งต่างประเทศ แต่ก็พบเช่นเดียวกันว่า เป็นการยากที่จะทำตามนโยบายนี้ได้สำเร็จ
เขากล่าวว่า เหตุผลที่ทำได้ยากนั้นมิได้ มีเเต่เรื่องงบประมาณที่สูงสำหรับการถอนทหาร แต่ ยังต้องคำนึงถึง “ราคา” ของผลกระทบทางการเมืองและทางการทูตที่สูงเช่นกัน
แต่สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ เขามีความชัดเจนมากในการดึงสหรัฐฯออกจากความข้องเกี่ยวในหลายดินเเดน และในหลายประเด็นบนเวทีโลก เขายังกังขาถึงประสิทธิภาพขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตเเลนติกเหนือ หรือนาโต้ องค์การอนามัยโลก และองค์การการค้าโลก นั่นยังไม่รวมถึงการตั้งคำถามต่อค่าใช้จ่ายกลาโหมที่ฐานทัพสหรัฐฯ ในหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี เป็นต้น
เอ็ดวาร์ด อัลเดน แห่ง Council of Foreign Relations กล่าวว่า สโลแกน America First ของประธานาธิบดีทรัมป์ เดินไปไกลจนถึงจุดที่ดูเหมือนว่าอเมริกามีมิตรที่น้อยลง และกลายเป็นความโดดเดี่ยวแบบ America Alone
ผู้นำสหรัฐฯเคยให้เหตุผลในเรื่องนี้ ที่การประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ เมื่อปีที่แล้ว
เขากล่าวว่า “ผู้นำที่ชาญฉลาดให้ความสำคัญต่อความเป็นดีอยู่ดีของประชาชนและของประเทศมาเป็นอันดับแรก อนาคตไม่ได้เป็นของคนที่เป็นประชาชนแห่งประชาคมโลก อนาคตเป็นของคนที่รักชาติ”