ช่วงนี้ชาวอเมริกันที่พำนักอยู่แถบกรุงวอชิงตันและปริมณฑล พร้อมปรุงและลิ้มรสเมนูหายาก ชนิด 17 ปีมีครั้งเดียว นั่นคือ สารพัดเมนูจาก “จักจั่น” หรือ Cicada ตามรายงานของเอพีและรอยเตอร์
เชฟโทเบียส พาโดวาโน (Tobias Padovano) เฝ้ารอเวลาที่จะปรุงเมนูรสล้ำจากวัตถุดิบหายากนี้มานาน ในระหว่างที่ จักจั่น หรือ Cicada หลายพันล้านตัว เพิ่งจะผุดขึ้นมาจากดินในรอบ 17 ปี และสร้างความวุ่นวายให้กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมในแถบกรุงวอชิงตันนี้ แต่เจ้าแมลงสีดำและสีส้มอิฐขนาด 1 นิ้วครึ่งจอมงุ่มง่านตัวนี้ มีศักยภาพเป็นวัตถุดิบแสนอร่อยในทาโก้ได้เช่นกัน
เชฟพาโดวาโน เจ้าของร้านอาหารเม็กซิกันในรัฐเวอร์จิเนีย เล่าถึงที่มาของเมนูทาโก้จักจั่นว่า มีลูกค้าเข้ามาถามมากมายว่าเมื่อไหร่จะมีทาโก้จักจั่นให้กินเสียที เพราะเขามีชื่อเสียงจากเมนูทาโกตั๊กแตนอยู่แล้ว เลยคิดว่าจะทำเมนูแบบ Limited Edition จากจักจั่นนี้คงไม่แปลกอะไร
จักจั่นพันธุ์ Brood X พบได้ในทุกๆ 17 ปี ในแถบกรุงวอชิงตันอย่างเวอร์จิเนียและแมริแลนด์ และยังพบได้ในรัฐแถบอื่นๆ อย่าง โอไฮโอ อินเดียนา เคนทักกี และเทนเนสซีด้วย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง ยืนยันว่า จักจั่น มีไขมันต่ำและโปรตีนสูง เหมือนกับแมลงชนิดอื่นๆ
เชฟพาโดวาโน วัย 43 ปีผู้นี้ อธิบายวิธีการทำง่ายๆว่า เขาไปเก็บจักจั่นตามสวนแถวบ้าน หลังจากมันโผล่ขึ้นมาจากดินและขึ้นไปเกาะตามต้นไม้ เขานำไปต้มเหมือนล็อบสเตอร์ และอบร้อนอีกครัง ก่อนจะตัดขาและปีกเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน เวลาปรุงจะนำไปผัดกับหอมและกระเทียม โปะด้วยซอสพริกเซอร์ราโนสีเขียวอ่อน ใส่กัวคาโมเล ผักดองแกล้ม ราดด้วยซัลซาเผ็ดกลาง และห่อด้วยแป้งตอติญา
แล้วรสชาติล่ะ?
วิล เบ็คเกอร์ วัย 19 ปี ได้ลิ้มรสทาโก้จักจั่นนี้เป็นครั้งแรก บอกว่า กัดคำแรกมันมีความกรุบกรอบอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อเริ่มเคี้ยวมันก็ละลายในปากเลย
ส่วนมิเชล เบ็คเกอร์ คุณแม่วัย 52 ปี ที่เคยเจอจักจั่นมาก่อนหน้านี้แล้ว รู้สึกประหลาดใจกับเมนูนี้ จากที่เธอชอบทานของแปลกๆ และเมนูนี้ก็อร่อยมากทีเดียว ส่วนลูกค้าคนอื่นของร้าน บอกตรงกันว่ารสชาติเหมือนกับกุ้งเสียมากกว่า
สู้จักจั่นบุกเมืองด้วยส้อม?
ไม่เพียงแต่ในร้านอาหารที่คิดเมนูจากแมลงหายากนี้ เพราะในครัวเรือนอเมริกัน ก็หันมาปรุงเมนูรสเลิศจากจักจั่นที่เจอในสวนหลังบ้านนี้ด้วยเช่นกัน จากคุณประโยชน์ด้านอาหาร ที่เปี่ยมด้วยโปรตีน ปราศจากกลูเตน ไขมันและคาร์โบไฮเดรตต่ำ เหมาะกับสายสุขภาพในปัจจุบัน และจักจั่นนี้เป็นแหล่งอาหารชั้นเยี่ยมของผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลก
เดวิด จอร์จ กอร์ดอน ผู้เขียนหนังสือ “Eat-a-Bug Cookbook” เมื่อปี 1998 จนได้ฉายาว่า Bug Chef บอกว่า เราควรตัดความคิดเรื่องการเกลียดแมลง ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมของผู้คนเสียก่อน เพราะเราสามารถนำแมลงต่างๆ มาผัด มาผสมในแป้งขนมปัง มาทำเค้กกล้วยหอม หรือชุบแป้งทอดกรอบก็ได้ทั้งนั้น
จักจั่น หรือ Cicada จะอาศัยอยู่ใต้ดินเป็นเวลา 13-17 ปี และดูดกินน้ำและความชื้นจากรากต้นไม้ที่ปักหลักมาเป็นทศวรรษ และเมื่อชั้นดินอุ่นมากพอ มันก็พร้อมที่จะบุกขึ้นมาจากดิน บางชนิดจะไต่ขึ้นไปบนต้นไม้ และลอกคราบบนนั้น ก่อนที่จะเอาตัวปักติดอยู่กับต้นไม้ใหญ่ เพื่อรอหาคู่ และวางไข่ ก่อนจะตายไปในระยะ 6 สัปดาห์นี้
กอร์ดอน อธิบายว่า เวลาปรุงจักจั่นนี้จะต้องตัดปีกและขาออกไป เพื่อลดความกรุบกรอบและอุปสรรคในการกิน และผู้ที่สนใจจะปรุงเมนูนี้ที่บ้าน ลองหยิบตัวที่ใกล้โตเต็มวัยมาปรุง เพราะจะได้รสชาติเหมือนกับกินปูนิ่มเลยทีเดียว สำหรับคนที่ไม่กล้าปรุงแบบตัวเป็นๆ กอร์ดอนแนะให้ใช้วิธีนำไปแช่ช่องฟรีซ แล้วนำมาปรุงเหมือนเป็นโปรตีนโรยหน้าพิซซา แทนการใช้กุ้งหรือไส้กรอกได้ หรือจะชุบแป้งทอดได้
สำหรับรสชาติของจักจั่น กอร์ดอน อธิบายว่ามันเหมือนกับหน่อไม้ฝรั่ง ขณะที่ไมค์ ราปป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงจาก University of Maryland เพิ่มเติมว่า จักจั่นให้รสชาติมันๆ คล้ายกับรากไม้ที่พวกมันกินเป็นอาหาร และสามารถทานคู่กับไวน์แดง Merlot ได้ดีทีเดียว
เมนูรักษ์โลก
หนังสือ “Eat-a-Bug Cookbook” ของกอร์ดอนเหมือนตำราอาหารที่มาก่อนกาล เพราะตอนนั้นหนังสือของเขาถูกนำไปล้อเลียนในรายการตลกยามดึกในอเมริกามากมาย ก่อนที่กว่า 20 ปีต่อมา การกินแมลงจะเป็นหนทางความปกติใหม่ และเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ จากที่ผู้คนอย่างน้อย 2 พันล้านคนทั่วโลกกินเมนูจากแมลงในปัจจุบัน
กอร์ดอนบอกว่า ตอนนี้ผู้คนใส่ใจเรื่องการกินแมลงอย่างจริงจังมากขึ้น จากที่สหประชาชาติ ระบุว่า แมลงที่บริโภคได้มีโปรตีนและไขมันดีในระดับสูง มีแคลเซียม ธาตุเหล็ก ซิงก์ ในระดับสูง อีกทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น และว่าตอนนี้ผู้คน 80% ทั่วโลกกินแมลงกัน ขณะที่ชาวอเมริกันอยู่ในกลุ่ม 20% ที่ไม่กิน เราจึงเหมือนพวกแปลกแยกอยู่พอสมควร
ดร.เจนนา จาดิน ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติของสหประชาชาติ มองว่า แมลงเป็นทางเลือกที่ดีต่อโลก ในระหว่างที่เราต้องจัดหาอาหารให้กับประชากร 9 พันล้านคนทั่วโลกตอนนี้ และการปศุสัตว์ทั่วโลก ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 18% ต่อปี ซึ่งแนวคิดนี้ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง
ตอนนี้ เมนูจากแมลงเริ่มแพร่หลายในการผลิตและแปรรูปอาหารทั่วโลก ตั้งแต่โปรตีนแท่ง ขนมกรุบกรอบ เส้นพาสต้า ที่เยอรมนีมีเบอร์เกอร์ที่ผลิตจากหนอนนกมาแล้ว
ส่วนในอเมริกา Newport Jerky Company ในแมสซาชูเสตส์ และโร้ด ไอส์แลนด์ ขายแมลงอบแห้งแบบถุง เริ่มต้นที่ 9.99 ดอลลาร์ หรือประมาณ 300 บาท และจิ้งหรีดเคลือบช็อคโกแลต ที่ราคา 6.99 ซึ่งมีลูกค้าสั่งซื้อหลายพันรายต่อปี เขาคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในอเมริกา แต่ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าเมนูแมลงจะกลายเป็นกระแสหลักในประเทศได้