‘คลื่นวิทยุ AM’ สหรัฐฯ ลุกขึ้นสู้ ให้อยู่คู่หน้าปัดวิทยุรถอเมริกัน

  • VOA

สถานีวิทยุย่านความถี่ AM 'KDHN-AM 1470' ในเมืองดิมมิทท์ รัฐเท็กซัส

ในสหรัฐฯ สถานีวิทยุที่ออกอากาศด้วยระบบ AM มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เหล่านักจัดรายการระดับแนวหน้าและที่เคยทำงานในพื้นที่เมืองต่างย้ายไปออกอากาศด้วยย่านความถี่ FM ที่แม้จะกระจายเสียงไปได้ในรัศมีที่จำกัด แต่คุณภาพเสียงคมชัดมากกว่า

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์บางรายต้องการที่จะนำการรับสัญญาณ AM ออกจากหน้าปัดวิทยุของตัวรถโดยให้เหตุผลว่า เป็นสิ่งที่ตกยุคไปแล้ว

หนึ่งในผู้ที่ยังออกอากาศในระบบ AM อยู่คือ สถานี KDHN-AM 1470 ในเมืองดิมมิทท์ รัฐเท็กซัส ที่มี แนนซี่ และ ทอดด์ วาเลน เป็นเจ้าของสถานี โดยทั้งคู่ทำหน้าที่ทุกอย่างในสถานี ตั้งแต่ขายโฆษณาเพื่อหารายได้ ไปจนถึงกำจัดซากหนูที่ถูกเครื่องส่งสัญญาณ 500 วัตต์ของสถานีช็อต

แนนซี่ และ ทอดด์ วาเลน เป็นเจ้าของสถานี KDHN-AM 1470 ในเมืองดิมมิทท์ รัฐเท็กซัส

แนนซี่ วาเลน ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อตอนที่ทั้งคู่มาถึงเมืองดิมมิทท์ใหม่ ต่างบอกกับคนที่นี่ว่า ต้องการมอบสิ่งที่ชาวดิมมิตต์จะรู้สึกภาคภูมิใจ และที่ผ่านมา ก็เชื่อว่า ได้ทำตามที่บอกไว้อย่างต่อเนื่อง และไม่ได้เพียงแค่เมืองดิมมิทท์ แต่เพื่อเมืองเล็ก ๆ อื่น ๆ ในพื้นที่ชนบทของสหรัฐฯ ที่ไม่มีสถานีวิทยุท้องถิ่นด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ผลิตรถยนต์บางรายประกาศแผนที่จะหยุดติดตั้งระบบวิทยุ AM ในรถรุ่นใหม่ โดยอ้างว่า ระบบของเครื่องยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะก่อก่วนสัญญาณวิทยุนี้จนทำให้ไม่สามารถรับฟังรายการจากสถานี AM หรือ อาจกล่าวได้ว่าย่านความถี่ AM กำลังตกสมัยแล้ว

แต่นักจัดรายการและสมาชิกสภาคองเกรสจำนวนไม่น้อย ซึ่งรวมถึง เอมี โคลบูชาร์ วุฒิสมาชิกจากรัฐมินนิโซตาสังกัดพรรคเดโมแครต ต้องการที่จะให้ผู้ผลิตจะยังคงติดตั้งเครื่องรับสัญญาณ AM ในรถยนต์และรถบรรทุกทุกคันที่ผลิตใหม่และจำหน่ายในอเมริกาต่อไป

สว.เอมี โคลบูชา จากรัฐมินนิโซตา สังกัดพรรคเดโมแครต

สว.โคลบูชาร์ กล่าวว่า ตัวเธอไม่คิดว่าพวกเขา เหล่าผู้ผลิตรถยนต์นั้นจะเข้าใจถึงความสำคัญของวิทยุ AM สำหรับผู้คนในวันนี้

ส่วนรอดนีย์ ฮันเตอร์ ผู้จัดการบริษัทด้านการเกษตร Attebury Grain เป็นอีกคนที่สนับสนุนการคงอยู่ของวิทยุ AM อย่างเช่น สถานี KDHN ที่ออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 160 กิโลเมตรและรายงานข่าวที่มีความสำคัญ เกี่ยวกับข้าวโพด ฝ้าย ข้าวสาลี และปศุสัตว์

รอดนีย์ ฮันเตอร์ ผู้จัดการบริษัทด้านการเกษตร Attebury Grain

ฮันเตอร์ เล่าว่า เขาเพิ่งได้รับโทรศัพท์จากเกษตรกรอย่างน้อยสามคน เพื่อบอกว่า ได้ยินเรื่องขาขึ้นของตลาดจากรายการวิทยุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีวิทยุ AM เรื่องแบบนี้คงไม่ได้เกิดขึ้น

ไม่เพียงแต่เหล่าเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากสถานีวิทยุ AM เพราะโจแอนน์ หวาง เภสัชกรเชื้อสายเกาหลี จาก Happy Pharmacy ในเมืองแคร์รอลตัน ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองดิมมิทท์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 5 ชั่วโมง ก็สามารถรับฟังวิทยุในภาษาเกาหลี จากสถานี KKDA AM 730

โจแอนน์ หวาง เภสัชกรจาก Happy Pharmacy

หวาง บอกว่า ผู้ฟังอย่างเธอสามารถได้รับข้อมูลข่าวสารสำคัญทั้งหมด รวมทั้งเรื่องของเพลง K-pop ได้จากวิทยุ AM ตลอด

สเตฟานี มิน คิม ประธานบริษัท DK Media Group เจ้าของสถานีข้างต้น ให้ความเห็นว่า การที่รถผลิตใหม่จะไม่สามารถรับฟังคลื่น AM ได้ถือว่า อันตรายต่อนักจัดรายการที่เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งไม่สามารถซื้อใบอนุญาตการกระจายเสียงสำหรับย่านความถี่ FM ที่มีราคาสูงกว่าและมีจำกัดได้

สเตฟานี มิน คิม ประธานบริษัท DK Media Group เจ้าของสถานี KKDA AM 730

คิม กล่าวเสริมด้วยว่า “กว่า 40% ของการฟังวิทยุเกิดขึ้นในรถยนต์” ดังนั้น เธอจึงคิดว่าวิทยุ AM กำลังเผชิญกับภัยคุกคามต่อการอยู่รอดจริง ๆ

สถานีวิทยุ KHSE AM Radio Caravan ในเมืองดัลลัส ที่ออกอากาศด้วยหลากหลายภาษา และเปิดเพลงเอเชียใต้เป็นหลัก เป็นอีกแห่งที่เผชิญกับภัยคุกคามดังกล่าว

ไวบาฟ เชธ ผู้จัดการสถานี Radio Caravan ชี้ว่า สถานีวิทยุ AM เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญต่อระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ

ไวบาฟ เชธ ผู้จัดการสถานี Radio Caravan

เชธ บอกว่า เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นรื่องคำเตือนเรื่องพายุทอร์นาโด การลักพาตัวเด็ก อะไรก็ตามที่สำคัญเกิดขึ้น รายการปกติต้องหยุดชั่วคราว เพราะข้อมูลด่วนเหล่านั้นจะถูกนำไปเผยแพร่ผ่านย่านความถี่ AM เสมอ

สำหรับความแตกต่างของสองย่านความถี่นั้น สัญญาณวิทยุระบบ FM จะถูกจำกัดด้วยกฏฟิสิกส์ ว่าด้วยส่วนโค้งของพื้นผิวโลก ทำให้ไม่สามารถรับ-ส่งสัญญาณในระยะไกลได้ ในขณะที่ สัญญาณย่านความถี่ AM จะมีความถี่ต่ำและส่งสัญญาณที่สะท้อนกลับลงสู่พื้นโลกจากชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ในตอนกลางคืน ทำให้สามารถส่งสัญญาณสื่อสารได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรนั่นเอง

  • ที่มา: วีโอเอ