คู่มือแนะแนวการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์สฉบับใหม่มีสาระสำคัญบางส่วนแตกต่างจากคู่มือฉบับเดิม

  • ทรงพจน์ สุภาผล

คู่มือแนะแนวการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์สฉบับใหม่มีสาระสำคัญบางส่วนแตกต่างจากคู่มือฉบับเดิม

สมาคมโรคอัลไซเมอร์สและสถาบันผู้สูงอายุแห่งชาติของสหรัฐเปิดเผยคู่มือแนะแนวการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์สฉบับใหม่ในวันอังคาร ซึ่งมีสาระสำคัญบางส่วนแตกต่างจากคู่มือฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ 27 ปีที่แล้ว

คู่มือแนะแนวสำหรับโรคอัลไซเมอร์สฉบับใหม่ระบุว่า อาการของโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์สมี 3 ขั้นตามลำดับต่อเนื่องกัน ขั้นแรกคือขั้นเริ่มต้นซึ่งยังไม่แสดงอาการใดๆแต่ส่วนที่รับรู้ความทรงจำของสมองเริ่มมีอาการผิดปกติแล้ว ขั้นที่สองคือเริ่มมีความบกพร่องของความสามารถในการรับรู้ทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ หรือเรียกว่า MCI และขั้นที่สามคือการปรากฎอาการของโรคอัลไซเมอร์สอย่างชัดเจน

ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่คู่มือฉบับใหม่แตกต่างจากฉบับเดิม คือมีการแนะนำให้ใช้ Biomarker หรือตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ เช่นระดับโปรตีนในเลือดหรือไขสันหลัง มาใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย

โรคอัลไซเมอร์สขั้นแรกหรือขั้นเริ่มต้นแต่ยังไม่แสดงอาการนั้นกำหนดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ด้านการวิจัย เป็นการศึกษาถึงตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่อาจปรากฎในเลือดหรือไขสันหลัง ซึ่งอาจใช้เป็นหลักฐานในการทดสอบแบบอื่นๆเพื่อตรวจดูความเสียหายของเซลล์ประสาทหรือการเปลี่ยนแปลงในเซลล์สมองผู้ป่วย โดยแพทย์เชื่อว่าการพัฒนาวิธีรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สนั้นคือการตรวจพบความผิดปกติและจัดการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือโรคเบาหวาน

โรคอัลไซเมอร์สขั้นที่สองหรือขั้นที่เริ่มมีความบกพร่องในการรับรู้นั้น คือขั้นเริ่มต้นของการสูญเสียความจำหรือภาวะสมองเสื่อม Dementia ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติด้านความทรงจำที่อาจนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์สอย่างสมบูรณ์ในช่วงเวลาหลายปีต่อมา อย่างไรก็ตามคู่มือฉบับใหม่นี้ชี้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์สขั้นที่สองหรือ MCI จะพัฒนาไปเป็นโรคอัลไซเมอร์สขั้นที่สามหรือขั้นรุนแรงที่สุด

โรคอัลไซเมอร์สขั้นที่สามนั้นคือขั้นที่ผู้ป่วยสูญเสียความจำหรือมีอาการความจำเสื่อมอย่างชัดเจน ซึ่งมิได้หมายความแค่การสูญเสียความจำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสูญเสียความสามารถในการมองเห็น การบอกตำแหน่งและการตัดสินใจด้วย

แม้จะมีความแตกต่างในสาระสำคัญบางส่วนระหว่างคู่มือแนะแนวการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์สฉบับใหม่กับฉบับเดิม แต่เจ้าหน้าที่ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์สชี้ว่าจะมีผลเพียงเล็กน้อยต่อกระบวนการรักษาโรคอัลไซเมอร์สในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากฎเกณฑ์หรือคำจำกัดความใหม่ของโรคอัลไซเมอร์สนี้จะช่วยเพิ่มขอบเขตความสามารถในการวินิจฉัยเพื่อเริ่มกระบวนการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นอาจเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน