วิเคราะห์: ‘เหตุยิงเรือ’ สะท้อนปมพิพาทประมงไทย-เมียนมา

  • VOA

แฟ้ม - ภาพเมื่อ 22 มี.ค. 2016 ชาวประมงเมียนมาในเรือประมงไทย ขนปลาที่จังหวัดสมุทรสาคร 11 มี.ค. 2016 (EPA/DIEGO AZUBEL)

นักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า ความบาดหมางระหว่างเรือประมงไทยและกองทัพเรือเมียนมา ได้ฉายภาพของความขัดแย้งของ 2 ประเทศในด้านสิทธิการประมงในน่านน้ำระหว่างกัน

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 พฤศจิกายน เรือลาดตระเวนเมียนมายิงเรือประมงไทย 15 ลำ นอกชายฝั่งจังหวัดระนองทางภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้มีคนไทยเสียชีวิต 1 ราย และทัพเรือเมียนมาจับกุมลูกเรือไทยอีก 4 คน ชาวเมียนมาอีก 27 คน พร้อมยึดเรือประมงไทย 1 ลำ ในเหตุการณ์ดังกล่าว

นับตั้งแต่นั้นมา ทางการไทยพยายามเจรจากับทางการเมียนมาเพื่อขอปล่อยตัวลูกเรือไทยทั้ง 4 คน

นิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ว่า ลูกเรือทั้ง 4 ถูกนำตัวส่งไปยังเกาะสอง บริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา เพื่อรอส่งตัวกลับ แต่จนถึงวันจันทร์ลูกเรือทั้ง 4 ยังอยู่ในการควบคุมของทางการเมียนมา

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ยืนยันว่าชาวไทยวัย 24 ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากจมน้ำหลังกระโดดลงไปในทะเลในช่วงที่กองทัพเรือเมียนมาเปิดฉากยิงเข้าใส่เรือประมงที่เขาร่วมออกเรือด้วยเป็นครั้งแรก

นายภูมิธรรมกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ด้วยว่า ทางการไทยยังรอการตอบกลับจากรัฐบาลทหารเมียนมา และตอนนี้ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับกรอบเวลาที่ชาวไทยทั้ง 4 จะได้รับอิสรภาพ

ก่อนหน้านี้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย กล่าวว่าการยิงเรือของเมียนมาเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ของทัพเรือเมียนมา แต่รัฐบาลทหารกรุงเนปิดอว์ยังยืนยันว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เนื่องจากเรือประมงไทยรุกล้ำน่านน้ำ

นอกจากนี้ กองทัพเมียนมา ที่กำลังเผชิญความขัดแย้งกลับกลุ่มแข็งข้อต่อต้านแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศ กำลังสืบสวนว่าพบวัตถุบนเรือประมงไทยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มปฏิวัติในเมียนมา

ทั้งนี้ ไทยและเมียนมามีพรมแดนเชื่อมต่อกันทอดยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร และมีพื้นที่ทางทะเลร่วมกัน 263 กิโลเมตรในทะเลอันดามัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงทวิภาคีเมื่อปี 1980 แต่เรือประมงไทยมักรุกล้ำเส้นแบ่งน่านน้ำดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง

ฟิล โรเบิร์ตสัน อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชีย องค์กรสิทธิมนุษชน Human Rights Watch ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission - AHRC) กล่าวกับวีโอเอว่าฝั่งไทยกำลังทำประมงโดยผิดกฎหมาย

โรเบิร์ตสัน อธิบายว่า “กลุ่มเรือประมงไทยเดินหน้าทำประมงในรูปแบบที่ไร้ขื่อแปรแบบเดิม ๆ ด้วยการรุกล้ำน่านน้ำเมียนมา และครั้งนี้พวกเขาถูกจับโดยกองทัพเรือที่ละเมิดสิทธิ์ผ่านการยิงเรือก่อนแล้วค่อยสอบถามทีหลัง เหตุการณ์ล่าสุดนี้ซ้ำรอยตามการปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่าย”

เรือประมงไทยสนใจน่านน้ำเมียนมาเพราะเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ ขณะที่ภาคประมงไทยทำรายได้มากกว่า 2% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของปี 2023

Your browser doesn’t support HTML5

เมียนมาเเจง ความสัมพันธ์กับไทยยังดีหลังเหตุยิงเรือประมง

โดมินิก ทอมสัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่ง the Environmental Justice Foundation กล่าวกับวีโอเอฝ่ายอีเมลว่า ข้อพิพาทด้านการประมงระหว่างสองชาติดำเนินมาหลายทศวรรษแล้ว แต่การเผชิญหน้าลักษณะนี้ถือเป็นครั้งแรก

ทอมสัน กล่าวว่า “ไทยและเมียนมายังไม่แก้ปมเรื่องพื้นที่ทางทะเลร่วมกันในอันดามัน ซึ่งนำไปสู่การละเมิดน่านน้ำระหว่างกัน ความบาดหมางด้านสิทธิการประมงย้อนกลับไปตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 ที่ไทยขยายกองเรือประมงตามความต้องการสินค้าอาหารทะเลในประเทศที่สูงขึ้น พ่วงด้วยปริมาณสัตว์ทะเลในน่านน้ำไทยที่ลดลงอย่างรุนแรง การประมงเกินขนาดในน่านน้ำไทยได้ทำให้เรือประมงของไทยรุกล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่บ่อยครั้ง”

เมื่อปี 2015 สหภาพยุโรป หรือ อียู ยื่น ‘ใบเหลือง’ ให้ไทยปฏิรูปนโยบายเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงาน และที่ไม่มีกฎข้อบังคับ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า IUU ซึ่งถือเป็นมาตรการขั้นแรกที่สหภาพยุโรปใช้เตือนหุ้นส่วนการค้าให้แก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย แต่หากได้รับ ‘ใบแดง’ จะหมายถึงไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว และจะไม่สามารถส่งออกอาหารทะเลไปยังอียูได้อีก

หลังจากนั้น ไทยได้ออกกฎระเบียบใหม่ที่ระบุให้เรือประมงไทยต้องติดตั้งเทคโนโลยีเตือนการรุกล้ำน่านน้ำ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่าระบบเตือนดังกล่าวถูกเพิกเฉย หรือไม่ได้เปิดใช้งาน ในช่วงที่เรือประมงถูกทางการเมียนมายิงใส่เมื่อ 30 พฤศจิกายน

SEE ALSO: ไทยประท้วงเรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย: รอยเตอร์

ทอมสัน กล่าวว่า “ไม่มีรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี 2015 เป็นอย่างน้อย และรูปการณ์ของเหตุพิพาทนี้ รวมทั้งการควบคุมตัวลูกเรือและยึดเรือประมงไทยเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ยังคงมีอีกหลายคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้

ด้านโรเบิร์ตสัน กล่าวว่า “แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เผยว่ามีเรือประมงไทยอีกมากที่ทำประมงผิดกฎหมายเกินกว่าที่รายงานออกมา นำไปสู่คำถามที่ว่าทำไมหน่วยงานกำกับดูแลทางทะเลของไทยล้มเหลวในการควบคุมกลุ่มเรือประมงไทยให้เคารพน่านน้ำของเมียนมา แม้ว่าชาวประมงไทยดูเหมือนเหยื่อในเหตุการณ์นี้ แต่ก็เป็นต้นตอของปัญหาในเวลาเดียวกัน”

ทอมสัน กล่าวว่าทางการไทยควรหันกลับมาดูระบบติดตามการรุกล้ำน่านน้ำของเรือประมง และ “เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีอำนาจควบคุมดูแลและการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง” เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคต

ที่ต้องติดตามกันต่อไป คือ การที่เมียนมาและสมาชิกอาเซียนจะเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประชาคม ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ว่าจะมีการหยิบยกข้อพิพาทดังกล่าวมาหารือด้วยหรือไม่

  • ที่มา: วีโอเอ