Your browser doesn’t support HTML5
ปรากฏการณ์ภาวะน้ำทะเลอุ่นขึ้นเป็นวงกว้างหรือ the blob นี้มีขนาดความยาวถึงประมาณ 1,600 กิโลเมตร กว้าง 1,600 กิโลเมตร ลึก 91 เมตร และมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าปกติราว 2 องศาเซลเซียส
ปรากฏการณ์น้ำทะเลอุ่นกว่าปกตินี้ สร้างปัญหาเนื่องจากน้ำทะเลที่อุ่นกว่าปกติมีสารอาหารน้อยว่าน้ำทะเลที่เย็น และผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาจากเหตุการณ์ the blob คือทำให้ ไฟโตแพลงตอน (phytoplankton) ในมหาสมุทรเเปซิฟิกที่ปกติเป็นน้ำเย็น มีอาหารน้อยลง และเกิดผลกระทบร้ายเเรงหลายอย่างต่อห่วงโซ่อาหารทั้งหมด
สิงโตทะเลและนกหลายพันตัวตายลงเพราะขาดอาหาร เนื่องจากปลาว่ายหนีจากจุดที่น้ำทะเลอุ่นขึ้นเพื่อออกไปหาอาหารในจุดอื่น
ทีมนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าปรากฏการณ์น้ำทะเลอุ่นขึ้นแบบนี้ อาจจะมีผลให้ห่วงโซ่อาหารทั้้งหมดในท้องทะเลเกิดความเป็นพิษได้
ผลการศึกษาชิ้นใหม่นำโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และสำนักงานทะเลวิทยาและชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐ หรือ NOAA ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters ไปเมื่อเร็วๆนี้ ได้แสดงให้เห็นหลักฐานที่ชัดเจนชิ้นเเรก ที่โยงภาวะน้ำอุ่นในมหาสมุทรเเปซิฟิกเข้ากับการเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาลของสาหร่ายทะเลสายพันธุ์ที่เป็นพิษในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งทำให้ต้องปิดทำการประมงในทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ในตอนนั้น
ทีมนักวิจัยศึกษาสาหร่ายทะเลที่เรียกว่า P. australis ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของสาหร่ายพิษทั้งหมด ทีมนักวิจัยพบว่าน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นทำให้สาหร่ายเหล่านี้โตเร็วขึ้น 2 – 3 เท่าตัวกว่าปกติ และหากมีสภาวะเเวดล้อมที่เหมาะเจาะ สาหร่ายเหล่านี้สามารถผลิตสารพิษที่เรียกว่า Domoic acid ที่สะสมในสัตว์ทะเลจำพวกกุ้ง หอยและปู แล้วเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและเป็นอันตรายมากขึ้น
สารพิษนี้ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร อาการชัก การสูญเสียความจำ และเเม้เเต่เสียชีวิตได้หากสารพิษปริมาณมากเข้าไปในกระเเสเลือดของสัตว์ ตั้งเเต่ปลาโลมา สิงโตทะเลและมนุษย์
ทางสำนักงานทะเลวิทยาเเละชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐ ได้บันทึกปรากฏการณ์ the blob เมื่อปี 2015 ว่าสร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยประสบมา ตั้งเเต่ปูที่ได้รับสารพิษ สิงโตทะเลเกิดอาการชักจากสารพิษ ไปจนถึงความจำเป็นต้องปิดทำการประมงเป็นบริเวณกว้าง ตั้งเเต่นครลอสแองเจลลีสไปจนถึงนครซีเเอทเติ้ล
นอกเหนือจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเเล้ว Ryan McCabe นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้ยังก่อความกังวลเเก่บรรดานักวิทยาศาสตร์อีกด้วย เพราะขณะที่ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาหร่าย P. australis ที่เป็นพิษนี้ จะกลายเป็นสาหร่ายที่พบได้ทั่วไปมากขึ้นกว่าเดิม
และทำให้เเหล่งอาหารหลักสำหรับทั้งคนและสัตว์ทะเล จะกลายเป็นสิ่งที่กินได้น้อยลง
(รายงานโดย Kevin Enochs / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)