Your browser doesn’t support HTML5
นักวิทยาศาสตร์ที่ประเทศสวีเดน พยายามหาวิธีรักษาหรือผลิตวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม
นักวิจัยจากสถาบัน Karolinska ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยการแพทย์ใกล้กับกรุงสตอกโฮล์มกำลังฝากความหวังไว้กับเจ้าอัลปากา สัตว์ในตระกูลอูฐคล้ายกับลามา
นักวิทยาศาสตร์เริ่มต้นด้วยการสร้างโปรตีนที่เรียกว่า "Spike" ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำให้คนติดเชื้อโคโรนาไวรัสขึ้นมาใหม่ จากนั้นฉีดโปรตีนสไปค์เข้าไปที่เจ้าอัลปากาอายุ 12 ปี จากเยอรมนี ซึ่งมีชื่อว่า "ไทสัน"
จากนั้นนักวิจัยเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อดูว่า อัลปากาสามารถพัฒนาสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี เพื่อต่อสู้กับโปรตีนสไปค์นี้ได้หรือไม่ โดยแอนติบอดีดังกล่าวมีขนาดเล็กมากและรู้จักกันในชื่อ nanobodies
ในแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน นักวิจัยเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า “neutralizing antibodies” หรือการลดอันตรายของเชื้อไวรัสนั้น
คุณเจอรัลด์ แม็คอินเนอร์นีย์ หัวหน้าทีมวิจัยในสวีเดน กล่าวว่า ความหวังของการศึกษาวิจัยนี้ก็คือ การทำให้สารภูมิต้านทานสามารถยับยั้งโปรตีนของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เชื้อโคโรนาไวรัสไม่สามารถเข้าสู่เซลล์และแพร่กระจายต่อไปได้ โดยผลที่ได้จากการทดลองนี้อาจถูกนำไปใช้พัฒนายาหรือวัคซีนที่ใช้ในการรักษาโควิด-19
แม็คอินเนอร์นีย์ กล่าวว่า ทีมวิจัยของเขาเริ่มทำการวิจัยเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม เพราะเชื่อว่าโคโรนาไวรัสจะกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ที่ร้ายแรง โดยทีมของเขาได้พบหลักฐานว่าแอนติบอดีดังกล่าวสามารถใช้กับมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโคโรนาไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นนักวิจัยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาแอนติบอดืที่แตกต่างกันหลาย ๆ ชนิด
การศึกษาแสดงให้เห็นว่า อัลปากาและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในตระกูลเดียวกับอูฐ เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของการผลิต nanobodies ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถทำการทดลองกับสัตว์จำพวกนี้ได้ง่าย นอกจากนี้ยังพบว่า ปลาฉลามก็ผลิต nanobodies ด้วยเช่นเดียวกัน แต่การทดลองในฉลามนั้นยากกว่าอัลปากา
ตอนนี้นักวิจัยในสวีเดนกำลังก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อไปซึ่งอาจมีการทดลองกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น หนู หรือแฮมสเตอร์ ซึ่งนักวิจัยบอกว่า สำหรับเจ้าไทสัน อัลปากาอายุ 12 ปีตัวนี้ งานของมันเสร็จสิ้นลงแล้ว และมันคงจะปลดเกษียณในอีกไม่ช้า ก่อนที่จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์มที่เยอรมนี ที่มันจากมา