โปแลนด์แต่งตั้งหุ่นยนต์เป็นซีอีโอ วิถีอนาคตหรือแค่กิมมิกการตลาด?

บริษัทเครื่องดื่มแห่งหนึ่งในประเทศโปแลนด์ แต่งตั้งหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ Large Language Models (LLM) ในลักษณะเดียวกับ ChatGPT ให้ทำหน้าที่เป็น "ซีอีโอทดลอง" เรื่องดังกล่าวนี้จะเรียกว่าเป็นกลไกทางการตลาดหรืออนาคตแห่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กันแน่?

มิกะ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เพศหญิง ที่ได้รับพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Hanson Robotics จากฮ่องกง และถึงแม้ว่าจะไม่มีขา แต่ก็ใช้ล้อเลื่อนในการเคลื่อนไหวไปรอบ ๆ และล่าสุดเธอได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอของบริษัทเครื่องดื่มในโปแลนด์แล้ว

หุ่นยนต์ซีอีโอ มิกะ บอกกับรอยเตอร์ว่า “เราเริ่มต้นการทดลองนี้โดยบุกเบิกการใช้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หรือ หุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ในบริษัทของเรา ซึ่งถือเป็นภาพคร่าว ๆ ของธุรกิจในอนาคตอันใกล้ หรือในอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้”

ในเบื้องต้น บริษัทผู้ผลิตเหล้ารัม Dictador ของโปแลนด์ ให้มิกะระบุตัวลูกค้าที่มีศักยภาพในการสะสมเหล้ารัมระดับไฮเอนด์ แต่ตอนนี้บทบาทหน้าที่ของเธอขยายออกไป รวมถึงการเลือกศิลปินเพื่อออกแบบขวดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกด้วย

SEE ALSO: โพลล์ชี้ ชาวอเมริกัน 61% หวั่นปัญญาประดิษฐ์คุกคามมนุษยชาติ

ทางด้านมาเร็ค สโซลโดรฟสกี ประธานบริษัท Dictador กล่าวว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ของมิกะนั้น แสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์สามารถมีบทบาททางธุรกิจได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเขามองว่านี่ไม่ใช่เพียงแค่โอกาสในการประชาสัมพันธ์อย่างชาญฉลาดเท่านั้น

และว่า “สมรรถภาพที่ขับเคลื่อนด้วยระบบข้อมูลของเธอ และสิ่งต่าง ๆ ที่เธอทำได้นั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญและเป็นข้อได้เปรียบที่ยิ่งใหญ่ของทางบริษัท”

ที่น่าสนใจคือในทางปฏิบัติแล้ว มิกะมีบทบาทอำนาจในเรื่องใดบ้าง รวมถึงคำถามที่ว่าเธอสามารถไล่เพื่อนร่วมงานที่เป็นมนุษย์ออกจากงานได้หรือไม่

SEE ALSO: ไม่ต้องห่วง! หุ่นยนต์คอนเฟิร์ม ‘ไม่แย่งงาน-ไม่ก่อกบฎ’ ต่อมนุษยชาติ

สโซลโดรฟสกีให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า “ปัญญาประดิษฐ์ไม่มีอำนาจในการจ้างงานหรือไล่พนักงานอก เพราะอำนาจการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ ยังคงอยู่ในมือของทีมผู้บริหารที่เป็นมนุษย์”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเธอจะไม่มีอำนาจของการเป็น 'ผู้บริหาร' จริง ๆ แต่มิกะก็มีข้อได้เปรียบเหนือกว่ามนุษย์หลายต่อหลายประการ โดยเธอบอกว่า ตัวเธอนั้นไม่มีวันหยุดสุดสัปดาห์ และต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

และว่า “กระบวนการตัดสินใจของเธอ อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลที่กว้างขวาง โดยปราศจากอคติส่วนบุคคล ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าเป็นการตัดสินใจอย่างเป็นกลางและอย่างมีกลยุทธ์"

สโซลโดรฟสกีกล่าวเสริมว่า มิกะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และ AI จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตของธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาขึ้น และเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องหาคำตอบว่า 'อนาคตของบริษัทต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร' เพื่อที่จะให้ความเชื่อมั่นว่าคุ้มค่าที่จะให้ AI เข้ามามีบทบาทในธุรกิจของตน

  • ที่มา: รอยเตอร์