Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัย เผย 3 ช่วงอายุที่มนุษย์จะเข้าสู่ภาวะเหงา พร้อมแนะใช้สติปัญญาคิดได้คิดเป็น เอาชนะความเดียวดาย
การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านจิตวิทยาผู้สูงอายุ International Psychogeriatric เก็บข้อมูลจากผู้คนในซานดิเอโก เคาน์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ช่วงอายุระหว่าง 27-101 ปี
ดร. ดิลิป เจสเตอ ผู้เขียนการวิจัยและอาจารย์ด้านจิตเวชและระบบประสาทวิทยา จาก University of California ระบุว่า "ความเหงา" ไม่ได้หมายถึง ความโดดเดี่ยวเดียวดายเพียงอย่างเดียว แต่มันคือความเศร้าสร้อยจากความแตกต่างระหว่างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ต้องการ กับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่จริง
การศึกษาค้บพบสิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับภาวะเหงาเดียวดาย ซึ่งลบล้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเหงาอย่างหนึ่ง ที่หลายคนเชื่อว่า คนมีอายุเท่านั้นที่จะพบภาวะโดดเดี่ยวนี้ เพราะในการศึกษาชี้ว่า ในช่วงชีวิตของมนุษย์อาจจะเกิดความเหงาได้ 3 ช่วงอายุหลักๆ ได้แก่ ช่วงอายุ 20 ตอนปลาย ช่วงอายุ 50 กลางๆ คือ ประมาณ 54-57 ปี และช่วงอายุ 80 ตอนปลาย
อธิบายเป็นแต่ละช่วง พบว่า อายุ 20 ตอนปลาย เป็นช่วงเวลาของการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต คนในช่วงอายุนี้มักจะมีความรู้สึกว่าเพื่อนฝูงในวัยเดียวกันตัดสินใจดีกว่าตน และมีความรู้สึกผิดต่อการตัดสินใจของตัวเองในหลายด้าน ซึ่งภาวะเครียดนี้จะเพิ่มระดับความอ้างว้างในจิตใจไปอีก
ส่วนในระดับ 50 ตอนกลาง หรือประมาณ 54-57 ปี จะมีภาวะที่เรียกว่า mid-life crisis หรือวิกฤตวัยกลางคน จากภาวะร่างกายที่เริ่มเจ็บป่วย สุขภาพถดถอย และอีกช่วงหนึ่งคือวัย 80 ตอนปลาย ที่หลายคนเชื่อว่าคนวัยนี้น่าจะรู้สึกดีที่ยังมีชีวิตอยู่ ในทางตรงกันข้าม พวกเขาเผชิญกับสุขภาพที่ย่ำแย่ ปัญหาทางการเงิน และความตายของคนรอบข้าง
ในการศึกษานี้ยังยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ก็สามารถเผชิญกับความเหงาได้ในระดับที่เท่าๆกัน
ดร. วิเวค เมอร์ธี อดีตอธิบดีกรมอนามัยสหรัฐฯ ยืนยันว่า ความเหงาส่งผลกระทบต่อสุขภาพเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันทีเดียว
นอกจากนี้ การศึกษาชิ้นนี้พบความเชื่อมโยงระหว่างความเหงากับสุขภาพร่างกาย จิตใจ และการรับรู้ของมนุษย์ โดยนักวิจัยพบว่ ภาวะโดดเดี่ยวเดียวดายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะระบบการรับรู้ที่ลดลง โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ภาวะพิการ และโรคซึมเศร้า เป็นต้น
เมื่อเห็นผลกระทบของความเหงาที่มีมากมายเช่นนี้ ใช่ว่าจะเราปล่อยให้ความเหงาทำลายสุขภาพของเราได้ เพราะ ดร. เจสเตอ หัวหน้าการวิจัยนี้ ค้นพบอีกว่า มีความสัมพันธ์เชิงผกผันระหว่างความเหงาและสติปัญญาคิดได้คิดเป็น หรือ wisdom ซึ่ง ดร.เจสเตอ มองว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยจัดการกับความเดียวดายนี้ได้
ดร. เจสเตอ ให้รายละเอียดว่า wisdom มีอยู่ 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับชีวิต, การจัดการทางอารมณ์, ความเมตตา ไม่เห็นแก่ตัว และมีความยุติธรรม, ความเข้าใจโลกอย่างถ่องแท้, การยอมรับความแตกต่าง และมีการตัดสินใจเด็ดเดี่ยว
ด้านแอนโธนี ออง อาจารย์ด้าน Human Development จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล มองว่า ความสัมพันธ์ที่ผกผันระหว่างความเหงากับความคิดได้คิดเป็น ที่ถ้าเรายิ่งมีสติ รู้คิดรู้ทำ ก็จะช่วยลดโอกาสของความเหงาเดียวดาย น่าจะส่งเสริมให้มนุษย์พัฒนาบุคลิกภาพของตนเองให้พร้อมรับมือกับความเหงาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตได้