หลายชาติในทวีปแอฟริกาเจอภัยแล้งรุนแรง

People queue to collect water from a spring in the Newlands suburb as fears over the city's water crisis grow in Cape Town, South Africa, Jan. 25, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

ภัยแล้งรุมเร้าแอฟริกา

โจนาธาน ฟาร์ (Jonathan Farr) หัวหน้าทีมศึกษาความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำแห่ง วอเตอร์ เอด (Water Aid) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อจัดหาน้ำสะอาดแก่ประชาชนในชุมชนที่ยากจนที่สุดในโลก รวมทั้งแอฟริกาทางใต้

เขากล่าวว่า มีคนทั่วโลกแล้ว 844 ล้านคนที่ขาดแคลนน้ำสะอาดซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของชีวิต เเละมากกว่า 8 ล้านคนของคนเหล่านี้ทั้งหมดอาศัยในทางใต้ของทวีปแอฟริกา

ฟาร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ทางสภาพภูมิอากาศเอลนีลโญ่เป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤติน้ำทั่วทางใต้ของทวีปแอฟริกาตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2558 ทำให้เกิดภาวะเเห้งแล้งที่เลวร้ายที่สุดของภูมิภาคนี้ในรอบ 35 ปี

เขากล่าวว่า เมื่อตอนต้นปีที่เเล้ว ภัยเเล้งนี้ได้กระทบต่อคนราว 41 ล้านคนในประเทศต่างๆ รวมทั้ง โมซัมบิก มาดากัสก้า มาลาวี เเซมเบีย เเละแอฟริกาใต้ เเละหลายประเทศเหล่านี้เจอกับภัยเเล้งรุนแรงกว่าเมืองเคปทาวน์ในแอฟริกาใต้

ฟาร์กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลของมาดากัสก้าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในทางใต้ของประเทศหลังจากประชาชนเกือบล้านคนประสบกับความอดอยากในระดับรุนแรงจนน่าเป็นห่วง

เเละในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดีของมาลาวียังได้ประกาศภาวะวิกฤติระดับประเทศ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเจอกับการขาดแคลนอาหารรุนแรงเนื่องมาจากภัยเเล้ง

และในเดือนกุมภาพันธ์ โมซัมบิกได้ลดปริมาณน้ำที่เเจกจ่ายแก่ประชาชนในกรุงมาพูโต ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง และได้กลับไปเเจกจ่ายน้ำปริมาณปกติในเดือนเมษายนต่อมา

แต่ปัญหาความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำกำลังถูกคุกคามทั่วทั้งแอฟริกา เเละสภาพอากาศที่ร้อนเเละแห้งแล้งขึ้นไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียวเท่านั้นของปัญหานี้

ฟาร์ กล่าวว่า มีคนจำนวนมากกำลังย้ายจากชุมชนชนบทเข้าไปอยู่ในเมืองเเละเมืองต่างๆ ยังไม่พร้อมที่จะรองรับการย้ายถิ่นของคนจำนวนมาก เเละความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว สร้างเเรงกดดันเเก่ลุ่มน้ำบางแห่งเเละทางการของประเทศต่างๆ เหล่านี้กำลังพยายามรับมือกับปัญหาภัยเเล้งที่รุนแรงนี้อยู่

ในหลายประเทศในแอฟริกาตอนใต้ มีการสูญเสียน้ำผ่านระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ได้มาตรฐาน การขาดแคลนการทำนุบำรุงเเละผู้ใช้น้ำอย่างผิดกฏหมาย

ฟาร์ กล่าวว่า รัฐบาลในหลายประเทศแอฟริกาเหล่านี้ไร้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ทำให้ขาดเงินในการทำนุบำรุงเเละขยายระบบน้ำประปา

หน่วยงานพัฒนา วอเตอร์ เอด ที่ฟาร์ทำงานอยู่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ วิศวกรเเละสถาปนิก ในการศึกษาภัยคุกคามต่อเเหล่งน้ำ ตั้งเเต่ท่อส่งน้ำรั่วไปจนถึงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ

แม้ว่าหลายชาติในแอฟริกาตอนใต้จะเจอกับภัยเเล้งที่รุนแรงกว่าเมืองเคปทาวน์ของแอฟริกาใต้ แต่กลับไม่ตกเป็นข่าว ฟาร์กล่าวว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเมืองเคปทาวน์ได้กำหนดเส้นตายที่เรียกว่า Day Zero ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน

Day Zero เป็นวันที่ทางการจะหยุดจ่ายน้ำประปาแก่ครัวเรือนเกือบทั้งหมดในเมือง หากระดับน้ำในเขื่อนต่างๆ ของเมืองลดลงไปเหลือแค่ 13.5 เปอร์เซ็นต์ โดยประชาชนจะต้องไปเข้าแถวรอรับน้ำตามปริมาณที่ได้รับอนุญาตต่อวัน

ในตอนต้นปีนี้ เจ้าหน้าที่เมืองเคปทาวน์เตือนว่า วัน Day Zero อาจจะเกิดขึ้นในเดือนนี้หรือไม่ก็เดือนกรกฏาคม

ฟาร์กล่าวว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการหยุดจ่ายน้ำในเมืองเคปทาวน์จะใหญ่หลวงมากเเละนี่กลายเป็นตัวอย่างแก่เมืองอื่นๆ ทั่วโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำของตนเอง เพราะปัญหาเดียวกันนี้อาจจะเกิดขึ้นกับตนในอนาคตอันใกล้ได้เช่นกัน

(เรียบรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)