Your browser doesn’t support HTML5
รัฐบาลประเทศต่างๆ ในทวีปอาฟริกายังไม่ยอมอนุมัติให้นำพืชจีเอ็มโอไปปลูกจริงเพราะเจอกับการล็อบบี้อย่างหนักจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
ในห้องแล็ปที่ได้รับการควบคุมอุณหภูมิ ทีมนักวิทยาศาสตร์ในประเทศยูกันดากำลังพัฒนาพันธุ์กล้วยชนิดใหม่ที่ตั้งชื่อว่า กล้วยทอง หรือ Golden Banana เป็นพันธุ์กล้วยที่เเข็งเเรงและอุดมด้วยวิตามินกับเเร่ธาตุ Priva Namanya เป็นหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ทีมนี้
Priva Namanya กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าทีมงานค้นพบว่าสามารถเพิ่มปริมาณวิตามินเอในกล้วยให้สูงขึ้นกว่าเดิมถึงหกเท่าตัว
คุณ Rob Bailey ผู้ร่วมร่างรายงานเรื่องนี้แห่ง Chatham House ชี้ว่าพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือพืช GMO เป็นความหวังที่ดีที่สุดในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเเละจะช่วยให้การเกษตรกรรมในอาฟริการับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้
เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่ากำลังมีการพัฒนาพืชตัดแต่งพันธุกรรมในประเทศอาฟริกาหลายชนิดอยู่ในขณะนี้ โดยพืชจีเอ็มโอเหล่านี้ได้รับการออกแบบให้ช่วยบรรเทาทุกข์เเก่ชาวนาและผู้บริโภคที่ยากจน พืชจำพวกมันสำปะหลัง ข้าวฟ่าง กล้วย มันเทศ ข้าวโพดพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง เขากล่าวว่าปัญหาที่กำลังประสบขณะนี้คือยังไม่สามารถนำพืชเหล่านี้ไปปลูกได้จริงๆ แต่ยังติดอยู่ในแปลงทดลองปลูกเท่านั้น
เขากล่าวว่าสาเหตุของปัญหานี้มาจากความลังเลของบรรดารัฐบาลประเทศต่างๆ ในทวีปอาฟริกาที่ยังไม่ยอมอนุมัติให้นำพืชจีเอ็มโอไปปลูกจริงเพราะเจอกับการล็อบบี้อย่างหนักจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
คุณ Rob Bailey แห่งหน่วยงานคลังสมอง Chatham House กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าฝ่ายไม่เห็นด้วยได้ทำการรณรงค์ต่อต้านพืชจีเอ็มโอโดยให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง อาทิ กล่าวหาว่าพืชจีเอ็มโอทำให้คนเป็นหมัน เป็นมะเร็ง และทำให้สัตว์มีความบกพร่องทางร่างกาย เขากล่าวว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่ตั้งอยู่บนความจริงและไม่มีหลักฐานยืนยัน
กลุ่มต่อต้านพืชจีเอ็มโอเเย้งว่าพืชจีเอ็มโอมีต้นทุนสูง ไม่ให้ผลผลิตสูงและยังทำให้มีสารเคมีตัวใหม่ๆ เข้าไปอยู่ในสภาพเเวดล้อม พวกเขากล่าวว่าบรรดาบริษัทที่ส่งเสริมพืชจีเอ็มโอต้องการสร้างผลกำไรเเก่ตนเองมากกว่าการช่วยเหลือชาวนายากจนในการปลูกพืชอาหาร
คุณ Soren Ambrose แห่ง Action Aid กล่าวว่าการเพิ่มผลผลิตด้วยการหันไปปลูกพืชตัดเเต่งพันธุกรรมไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในทวีปอาฟริกา
เขากล่าวว่าปัญหาที่ประสบไม่ใช่การผลิตอาหารให้เพียงพอแต่เป็นปัญหาของกาขนส่งอาหารให้ไปถึงมือคนที่ขาดแคลนอาหารต่างหาก เขากล่าวว่าทวีปอาฟฟริกยังขาดแคลนถนนหนทาง ตลอดจนระบบการจัดเก็บอาหารให้อยู่ได้นานมากกว่า
ในอาฟริกา มีเกษตรกรรายย่อยหลายล้านคน คุณ Bernard Guri แห่งศูนย์เพื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นในกาน่า (Ghana’s Center for Indigenous Knowledge) กังวลว่าการปลูกพืชจีเอ็มโออาจทำให้เกษตรกรท้องถิ่นไม่สามารถอยู่ได้
เขากล่าวว่าการส่งเสริมการปลูกพืชจีเอ็มโอเป็นทำลายความมั่นคงของคนท้องถิ่น เป็นการล่าอณานิคมในรูปแบบใหม่ที่ประเทศพัฒนาเเล้วเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพื่อยึดครองระบบการผลิตอาหารของอาฟริกา ด้วยการครอบครองที่ดิน พันธุ์พืชและระบบการเกษตรกรรมทั้งระบบ
ผู้สนับสนุนพืชตัดแต่งพันธุกรรมแย้งว่าการปลูกพืชจีเอ็มโออาจจะนำไปสู่การปฏิวัติเขียวในภาคเกษตรกรรมของอาฟริกาได้ในอนาคตแต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เชื่อว่านั่นจะเป็นเป็นไปได้