Your browser doesn’t support HTML5
รายงานของรัฐบาลอัฟกานิสถานเมื่อปี 2010 เชื่อว่าสินแร่ต่างๆ ของประเทศที่อยู่ใต้ดินมีมูลค่าราวหนึ่งล้านล้านถึงสามล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งการประเมินของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็คาดการณ์ในทำนองเดียวกัน
นอกจากนั้นรายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ก็ชี้ว่ารายได้จากการนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ประโยชน์จะช่วยสร้างอิสระทางการเงินให้กับประเทศได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ดูเหมือนว่าจีนและบริษัทรัฐวิสาหกิจทำเหมืองของจีนยังไม่พร้อมจะเข้าไปขุดเจาะทรัพยากรดังกล่าวจากปัญหาบางอย่างทั้งในด้านความมั่นคงและระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ก่อนหน้านี้กลุ่มตาลิบันทราบเรื่องทรัพยากรใต้ดินของประเทศมานานแล้วและรายงานของสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ก็ระบุว่ากลุ่มตาลิบันมีรายได้ประมาณ 464 ล้านดอลลาร์ต่อปีจากการใช้ประโยชน์สินแร่ดังกล่าว และก่อนที่รัฐบาลกรุงกาบูลจะล่มสลายลงกลุ่มตาลิบันก็ครอบครองพื้นที่ทำเหมืองได้ 280 แห่งจากจำนวนทั้งสิ้น 710 แห่งในประเทศด้วย
แต่ถึงแม้สินแร่ที่มีค่าเหล่านี้จะมีนับล้านตัน ตั้งแต่แร่เหล็ก ทองแดง ทองคำ หินอ่อนรวมทั้งแร่ธาตุหายากบางอย่างที่เรียกว่า rare-earth minerals ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้าเทคโนโลยี ทั้งนี้ตามการประเมินของกระทรวงเหมืองแร่และน้ำมันของอัฟกานิสถานเมื่อปี 2019 ก็ตาม
แต่สภาพภูมิประเทศที่ทุรกันดารยากต่อการเข้าถึงและสภาพแวดล้อมที่รุนแรงก็เป็นอุปสรรคสำคัญอันดับหนึ่งของการนำทรัพยากรเหล่านี้ขึ้นมาใช้งาน และแม้ว่าเมื่อปี 2007 บริษัท MCC รัฐวิสาหกิจเหมืองแร่ของรัฐบาลจีนจะได้สัญญาขุดเจาะเหมืองทองแดงแห่งหนึ่งในจังหวัดโลกาใกล้กรุงกาบูล และมีข้อตกลงเพื่อลงทุน 2,800 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาพื้นที่ สร้างโรงไฟฟ้ากับทางรถไฟและจ้างงานราว 5,000 ตำแหน่งก็ตาม
แต่บริษัท MCC ของจีนก็ยังไม่สามารถเริ่มต้นขุดเจาะแร่ธาตุเหล่านี้ขึ้นมาได้จากปัญหาความไม่มั่นคงในประเทศ โดยหลังจากที่กลุ่มตาลิบันเข้ามามีอำนาจปกครองอัฟกานิสถาน บริษัท MCC ได้แสดงท่าทีว่าพร้อมจะกลับไปทำโครงการต่อหากสถานการณ์ในประเทศมีเสถียรภาพมั่นคงและหลังจากที่อัฟกานิสถานได้รับการยอมรับจากนานาประเทศซึ่งรวมทั้งจากจีนด้วย
ขณะนี้จีนยังไม่ได้รับรองรัฐบาลตาลิบันอย่างเป็นทางการและได้เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติเข้าร่วมมือและมีความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถาน ซึ่งกรณีของบริษัททำเหมือง MCC ของจีนอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าเหตุใดทรัพยากรธรรมชาติใต้ดินของอัฟกานิสถานจึงไม่สามารถถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในขณะนี้ และบรรดานักวิเคราะห์ก็กำลังรอดูว่าจีนจะมีบทบาทอย่างไรในการช่วยพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจจากแหล่งสินแร่ใต้ดินของอัฟกานิสถาน ถึงแม้บรรดานักวิเคราะห์จะไม่คาดว่าจีนจะกลับเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมด้านนี้โดยทันที
นายเครก ซิงเกิลตัน นักวิเคราะห์ของ Foundation for Defense of Democracies ชี้ว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงในอัฟกานิสถานขณะนี้ยังน่ากังวลและยังไม่เป็นที่แน่ใจได้ว่ารัฐบาลที่มีอำนาจปกครองอยู่จะสามารถให้หลักประกันเรื่องความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจได้หรือไม่
ส่วนนายร๊อด สกูลโนเวอร์ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของ Ecological Futures Group ก็เสริมว่าตนไม่คิดว่ารัฐบาลตาลิบันจะสามารถให้หลักประกันเรื่องนี้ได้และว่าไม่เคยมีประวัติมาก่อนว่าธุรกิจของจีนจะเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพความมั่นคง
แต่นอกจากสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศของการลงทุนแล้ว อัฟกานิสถานยังมีปัญหาขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อเข้าถึงและนำสินแร่จากเขตภูเขาออกมาใช้งานด้วย
และคุณร๊อด สกูลโนเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของ Ecological Futures Group ได้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายไว้ด้วยว่ามีข้อแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างการขุดเจาะสินแร่ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางธุรกิจสำหรับจีนกับอัฟกานิสถาน แต่คำถามที่ว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประชาชนในประเทศโดยทั่วไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการมีธรรมาภิบาลของกลุ่มที่มีอำนาจปกครองประเทศเป็นสำคัญ
ที่มา: VOA