นักเคลื่อนไหวค้านพิพิธภัณฑ์ขายตุ๊กตาเทพฮินดู

Museum-Hindu Deities-Plush Toys

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวฮินดูเรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์พีบอดี้ เอซเซ็กส์ (Peabody Essex Museum) ในเมืองเซเลม รัฐแมสซาชูเซตส์ ให้หยุดจำหน่ายตุ๊กตาสำหรับเด็กรูปเทพเจ้าตามคติของชาวฮินดู โดยระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงศาสนาดังกล่าว ตามรายงานของเอพี

ราจัน เซ็ด ประธานของสมาคม Universal Society of Hinduism ระบุในแถลงการณ์ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจำหน่ายตุ๊กตารูปพระกฤษณะ พระพิฆเนศ และหนุมาน ทางออนไลน์ ก่อนที่จะหยุดจำหน่ายเมื่อวันอังคาร

เซ็ดระบุว่า เทพทั้งสามเป็นที่เคารพบูชาอย่างสูงของชาวฮินดูตามวัดหรือศาลที่บ้าน และไม่ควรถูก “โยนไปทั่วบ้าน ห้องน้ำ รถ หรือที่อื่น ๆ” และเรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ เซ็ดเคยเรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะรูบิน (Rubin Museum of Art) ในนครนิวยอร์กให้หยุดจำหน่ายของเล่นมาแล้ว

วิตนีย์ แวน ไดค์ โฆษกของพิพิธภัณฑ์พีบอดี้ เอซเซ็กส์ ระบุในอีเมล์ว่า ทางพิพิธภัณฑ์ได้ระงับการจำหน่ายตุ๊กตาดังกล่าว ขณะกำลังทบทวนคำร้อง และเตรียมกลับมาจำหน่ายตุ๊กตาดังกล่าวอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

ทางพิพิธภัณฑ์ระบุว่า ตุ๊กตาดังกล่าวมีจำหน่ายทั่วไป และผลิตโดยบริษัทโมดิ ทอยส์ ที่ก่อตั้งโดยครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย

อวานิ โมดิ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ ระบุในแถลงการณ์ว่า ตุ๊กตาเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้พบเห็นเกิดความสงสัยใคร่รู้ในวัฒนธรรมฮินดู และระบุด้วยว่า บริษัทภูมิใจที่ได้ “มอบทางเลือกให้ครอบครัวได้เรียนรู้และปฏิบัติตามหลักศาสนาฮินดูด้วยวิธีที่สนุกและทำได้จริง แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับแนวทางของเราก็ตาม”

ขณะเดียวกัน แม็ท แม็คเดอร์มอตต์ โฆษกขององค์กร Hindu American Foundation ระบุในแถลงการณ์ว่า ทางองค์กรไม่มีปัญหากับตุ๊กตาดังกล่าว และเขาเองก็เคยเห็นตุ๊กตาเหล่านี้ถูกวางจำหน่ายในวัดฮินดูมาแล้ว

พิพิธภัณฑ์พีบอดี้ เอซเซ็กส์ ระบุว่า ทางพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุจากอินเดียและเอเชียใต้ที่ “ส่งเสริมความงาม ความหลากหลาย และความซับซ้อน” ของภูมิภาคดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ สมาคม Universal Society of Hinduism ได้เคลื่อนไหวต่อการกระทำที่ ราจัน เซ็ด ประธานสมาคมเห็นว่า เป็นการนำสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

เมื่อปี 2020 เวย์แฟร์ (Wayfair) บริษัทค้าปลีกสินค้าออนไลน์ ได้หยุดจำหน่ายผ้าเช็ดตัวลายเทพฮินดูหลังองค์กรดังกล่าวคัดค้าน และในปี 2019 เซ็ดยังเคยเป็นแนวร่วมเรียกร้องให้คลับกลางคืนหยุดใช้รูปทางศาสนาพุทธและฮินดูเป็นเครื่องประดับตกแต่ง

  • ที่มา: เอพี