นักเคลื่อนไหวทั่วโลกจับตาดูการประชุมสุดยอดผู้นำประชาธิปไตย

FILE - A pro-democracy protester dressed as the Statue of Liberty rides an electric scooter during an anti-government demonstration marking the anniversary of the 1932 Siamese Revolution in Bangkok, Thailand, June 24, 2021.

Your browser doesn’t support HTML5

Activist Groups and White House

ขณะที่ผู้นำจากกว่า 100 ประเทศกำลังเตรียมตัวเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตยแบบออนไลน์ที่รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน จัดขึ้นในสัปดาห์หน้า กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างๆ แสดงความหวังที่จะเห็นการให้คำมั่นลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมในการต่อต้านระบอบเผด็จการของประเทศทั้งหลาย รวมทั้ง การที่สหรัฐฯ เองจะออกมายอมรับว่า ตนนั้นยังมีเรื่องต้องทำอีกมากเพื่อส่งเสริมสถาบันประชาธิปไตยในประเทศ

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การประชุมสุดยอดผู้นำที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9 และ 10 ธันวาคม โดยมีวาระการหารือใน 3 ประเด็น อันได้แก่ การป้องกันต่อต้านระบอบเผด็จการ การต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น และการส่งเสริมการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน

การประชุมแบบออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯ ที่หวนกลับมาเน้นย้ำต่อประชาคมโลกเกี่ยวกับบทบาทของตนในฐานะผู้นำชาติประชาธิปไตย ตามคำยืนยันของปธน.ไบเดน ว่า “อเมริกาได้กลับมาแล้ว” หลังผ่านช่วงเวลา 4 ปีของรัฐบาลภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดำเนินนโยบายลดบทบาทในฐานะผู้นำโลกไป

นอกจากที่การประชุมครั้งนี้จะเปิดฉากขึ้นเพื่อหวังส่งเสริมบทบาทสหรัฐฯ ในฐานะกันชนต่อการรุกคืบของระบอบเผด็จการจากรัฐบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะ จีนและรัสเซีย ตัวสหรัฐฯ เองก็กำลังเผชิญกับปัญหาที่สถาบันด้านประชาธิปไตยของตนกำลังถูกโจมตีอยู่ ขณะที่ หลายประเทศที่กำลังติดต่อสื่อสารอยู่ถูกวิจารณ์ว่ามีความโน้มเอียงไปทางการปกครองแบบเผด็จการด้วย เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ และโปแลนด์ เป็นต้น

การถอยหลังของประชาธิปไตย – เรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

เฮเลนา ฮอฟเบาเออร์ บัลโมริ ผู้อำนวยการโครงการนานาชาติจากมูลนิธิ Ford Foundation บอกกับสำนักข่าว วีโอเอ ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบอบประชาธิปไตยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีล่าสุด เป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ไปทั่วโลก ว่า “ระบอบประชาธิปไตยเริ่มมีการถอยหลังลงจริงๆ แล้ว”

FILE - Security forces gather on election day in Kampala, Uganda, Jan. 14, 2021. Authorities in Uganda had recently suspended 54 aid groups, including Citizens' Coalition for Electoral Democracy and Chapter Four Uganda.

ฮอฟเบาเออร์ บัลโมริ ยังกล่าวด้วยว่า การประชุมสุดยอดที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นต้องมีการพูดถึงสิ่งที่เธอเรียกว่า เป็น “พื้นที่ว่างภาคประชาสังคมที่เริ่มบีบแคบลง” รวมทั้ง ต้องมีการออก “คำแถลงที่มีเนื้อหาหนักแน่นชัดเจนเกี่ยวกับคุณค่าและการปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้ง สิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของระบอบนี้ เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการสมาคมและเสรีภาพในการชุมนุม ที่มีความสำคัญต่อภาคประชาสังคมในการดำเนินบทบาทสำคัญต่อรัฐบาลทั้งหลาย”

เธอยังย้ำด้วยว่า “ระบอบประชาธิปไตยที่เน้นให้ความสำคัญกับมิติเลือกตั้ง (electoral democracy) ไม่ใช่สิ่งที่เพียงพออีกต่อไป” และว่า โลกต้องมีการสร้างพื้นที่ว่างให้กับประชาชนให้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนต่างๆ ด้วย

ภาวะจำกัดของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์

และก่อนหน้าที่การประชุมสุดยอดผู้นำในสัปดาห์หน้าจะเริ่มขึ้น กลุ่มรณรงค์ด้านประชาธิปไตย Freedom House ได้ออกรายงานที่แสดงการให้คะแนนด้านเสรีภาพของประเทศต่างๆ ที่จะเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า หลายประเทศยังคงไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนของตนเท่าใดนัก

FILE - People take part in a protest to support Cuban dissidents and to demand human rights in Cuba, at Puerta del Sol square in Madrid, Spain, November 15, 2021.

นิโคล บิบบินส์ เซดาคา รองประธานกลุ่ม Freedom House บอกกับ วีโอเอ ว่า ทางกลุ่มหวังที่จะเห็นผู้นำประเทศต่างๆ ประกาศอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความตั้งใจที่จะรับมือกับความท้าทายทั้งหลาย และร่วมมือกันให้คำมั่นในแถลงการณ์ที่จะสนับสนุน “นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์” ทั่วโลก ซึ่งรวมความถึง สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหว องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กลุ่มสิทธิสตรี และผู้นำศาสนา ที่กำลัง “เผชิญข้อจำกัดบีบคั้นอย่างมหาศาลอยู่” รวมทั้ง การประณามการที่รัฐบาลเผด็จการหลายแห่งเดินหน้าทำ “การปราบปรามข้ามชาติ” เพื่อปิดปากผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านตน แม้คนเหล่านั้นจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประเทศตนก็ตาม

ความพยายามชี้นำทางที่ยังมีข้อกังขา

ขณะที่ สหรัฐฯ เดินหน้าจัดการประชุมสุดยอดเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอยู่นี้ องค์กรนอกประเทศหลายแห่ง เช่น Economist Intelligence Unit และ International Institute for Democracy and Electoral Assistance (IDEA) ที่ตั้งอยู่ในกรุงสตอกโฮล์ม ออกมาชี้ว่า ความเป็นจริงในเวลานี้ก็คือ สหรัฐฯ เองกำลังประสบภาวะที่ไม่สามารถทำตามคำมั่นที่จะปฏิบัติตามหลักคุณค่าของประชาธิปไตยอยู่

FILE - In this Nov. 4, 2020, photo, election challengers in Detroit yell as they look through the windows of the central counting board as police were helping to keep additional challengers from entering due to overcrowding.

และเมื่อต้นเดือนนี้เอง กลุ่ม IDEA เพิ่งเพิ่มสหรัฐฯ เข้าไปอยู่ในรายชื่อประเทศที่ประสบภาวะ “ประชาธิปไตยถอยหลังกลับ” หลังเกิดเหตุการณ์มากมายในประเทศนี้ ตั้งแต่เรื่องของประกาศกฎจำกัดการใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งในรัฐต่างๆ การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่ยุติธรรมที่เข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด และคำอ้างของสมาชิกพรรครีพับลิกันที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีหลักฐานว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนั้นไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย

เอริก บยอค์ลุนด์ ประธานกลุ่ม Democracy International บอกกับ วีโอเอ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ นั้นทำให้เกิดคำถามที่ว่า การที่กรุงวอชิงตันจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเพื่อถกประเด็นด้านประชาธิปไตยนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่

ขอให้ไม่เป็นเพียงเวทีสำหรับมธุรสวาจา

สิ่งที่องค์กรด้านสิทธิมนุษชนทั้งหลายและภาคประชาสังคมหวังว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้ คือ การที่ได้เห็นผู้นำทั้งหลายแสดงจุดยืนสนับสนุนคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยและการแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินการต่างๆ ในด้านนี้ที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลังการหารือ

โจแอน ลิน ผู้อำนวยการของ Amnesty International USA บอกกับ วีโอเอ ว่า เธอคิดว่า การประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นจะต้องเป็นเวทีสำหรับการแสดงความซื่อสัตย์ ความรู้สึกถ่อมตน และการให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจัง ในการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ขณะที่ยังมีคำถามคาใจกันว่า ท้ายที่สุด เวทีนี้จะจบลงด้วยการเดินหน้าดำเนินการความร่วมมือในระดับพหุภาคีอย่างมีนัยสำคัญ หรือจะเป็นเพียงกิจกรรมอีกกิจกรรมหนึ่งที่ให้รัฐบาลทั้งหลายมาประชุมแบบออนไลน์โดยไม่หวังที่จะลงมือทำอะไรหลังจากนั้น