กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้อินโดนีเซียกระตุ้นพม่า ให้รับรองความยุติธรรม ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้อินโดนีเซียกระตุ้นพม่า ให้รับรองความยุติธรรม ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

บรรดากลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน กำลังเรียกร้องให้อินโดนีเซียกระตุ้นพม่า ระหว่างการประชุมผู้นำสมาคมประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เพื่อให้พม่ารับรองว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นนั้น จะเป็นการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรม

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย Susilo Bambang Yudhoyono เคยกล่าวไว้ว่าจะให้การสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย มาถึงตอนนี้ บรรดากลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในเอเชีย ต่างต้องการให้ประธานาธิบดี Yudhoyono ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ด้วยการช่วยกดดันรัฐบาลทหารพม่า ให้จัดการเลือกตั้งอย่างอิสระและยุติธรรม ระหว่างการประชุมร่วมกับบรรดาผู้นำของพม่า และประเทศสมาชิกอื่นๆของสมาคมประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนที่ประเทศเวียดนามในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นี้

คุณ Elaine Pearson แห่งกลุ่ม Human Rights Watch เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย เรียกร้องให้มีการกดดันให้เกิดการปฏิรูปในพม่า โดยเธอเชื่อว่า อินโดนีเซียมีทั้งประสบการณ์ และความน่าเชื่อถือที่สามารถโน้มน้าวบรรดาผู้นำของพม่าได้

คุณ Elaine Pearson ชี้ว่า เนื่องจากอินโดนีเซีย คือสมาชิกสำคัญของสมาคมอาเซียน และเป็นเสียงที่เข้มแข็งมีหลักการ ต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ประกอบกับอินโดนีเซียเองเคยผ่านประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาล ที่นำโดยทหารมาเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเหตุผลที่กล่าวมาส่งผลให้อินโดนีเซีย อยู่ในฐานะที่บรรดานายพลพม่าต้องรับฟัง

รัฐบาลทหารพม่ามีแผนจะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันแน่นอน โดยการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้มีขึ้นเมื่อปี 1990 หรือ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้น พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ที่มีนางออง ซาน ซูจีเป็นผู้นำ ชนะการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลพม่าปฏิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

เมื่อเร็วๆ นี้ พรรค NLD เพิ่งจะประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่มีลักษณะจำกัด และไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการกำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองที่เข้าร่วมต้องไม่มีสมาชิก ที่เคยมีประวัติเป็นนักโทษทางการเมือง ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจีและเจ้าหน้าที่พรรค NLD คนอื่นๆ

สำหรับประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน มีความเห็นแตกต่างกันไปในเรื่องของพม่า ในด้านหนึ่ง อาเซียนมีนโยบายไม่ก้าวก่ายแทรกแซง กิจการภายในของประเทศสมาชิก แต่คุณ Yuyun Wahyuningrum แห่งองค์กรความช่วยเหลือ Oxfam เชื่อว่า ในการประชุมอาเซียนสัปดาห์นี้ จะมีการหยิบยกเรื่องมาตรการลงโทษประเทศสมาชิก ที่ละเมิดกฎบัตรด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียนมาหารือกันเป็นครั้งแรก

คุณ Wahyuningrum ชี้ว่า แม้จะมีการหารือเรื่องมาตรการลงโทษ แต่เนื่องจากหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของอาเซียนคือต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ ประเทศสมาชิกต้องเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกัน จึงมีแนวโน้มว่าอาเซียนอาจไม่มีมาตรการลงโทษใดๆ ต่อพม่า


อย่างไรก็ตาม คุณ Wahyuningrum แห่งกลุ่ม Oxfam หวังว่า ด้วยความร่วมมือทางการฑูตและการเพิ่มแรงกดดันจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของพม่ารวมทั้งอินโดนีเซีย จะช่วยให้พม่าสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่แนวทางแห่งประชาธิปไตยอย่างสันติได้ในที่สุด