บุคคลมีชื่อเสียงมากมายในเกาหลีใต้ ฆ่าตัวตาย เนื่องจากการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์

บุคคลมีชื่อเสียงมากมายในเกาหลีใต้ ฆ่าตัวตาย เนื่องจากการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บุคคลที่มีชื่อเสียงในเกาหลีใต้มากมายหลายคน ต่างฆ่าตัวตาย โดยเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า หลายกรณีเป็นผลมาจากข้อความ บนกระดานข่าวสารทางอินเตอร์เนต ที่เป็นไปในทางว่ากล่าวตำหนิ มุ่งร้าย หรือแสดงความเกลียดชังคนมีชื่อเสียงเหล่านั้น

ซึ่งการกระทำดังกล่าวเรียกกันว่า Cyber Bullying หรือการกลั่นแกล้งผ่านอินเตอร์เนต ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในเกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศที่มีการใช้อินเตอร์เนตมากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม มีนักเรียนชาวเกาหลีใต้บางคน พยายามต่อสู้กับการกลั่นแกล้งผ่านอินเตอร์เนต ด้วยการใช้น้ำเย็นเข้าลูบเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

คิม ฮี จู เด็กนักเรียนหญิงวัย 15 ปี และเพื่อนๆ ที่โรงเรียนมัธยมโฮกุ๊กในเมืองอิลซาน กำลังทำงานพิเศษที่ได้รับมอบหมาย จากคุณครูอย่างขมักเขม้น โดยเธอและเพื่อนๆ ต่างช่วยกันเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นดีดี แบบให้กำลังใจ ลงบนกระดานข่าวสารตามเว็บไซต์ต่างๆ จุดประสงค์ก็เพื่อช่วยกลบข้อความ หรือความคิดเห็นที่ไม่จรรโลงใจ จากบรรดาอันธพาลออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรู้สึกดีขึ้น

คิม ฮี จู บอกว่า เธอเขียนข้อความขอบคุณเพื่อนๆ คุณครูและครอบครัว ลงบนเว็บไซต์ของโรงเรียน และยังแสดงความคิดเห็นดีดีต่อบุคคลที่มีชื่อเสียง เพราะเธอเชื่อว่า เมื่อคนอื่นได้อ่านความเห็นดีดี ก็คงอยากเขียนสิ่งดีดีลงไปเช่นกัน

โรงเรียนมัธยมโฮกุ๊กคือหนึ่งใน รร.ทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ Sunfull Movement ซึ่งหมายความถึงคำตอบที่ดี เป้าหมายของโครงการนี้คือ การยุติการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ และสร้างสรรค์บรรยากาศที่น่ารื่นรมย์ ทางอินเตอร์เนต

ปัญหาการรุกรานทางอินเตอร์เนตในเกาหลีใต้ กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญก็คือไม่สามารถสืบสาวหาต้นตอได้ เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ระบุว่า การกลั่นแกล้งผ่านอินเตอร์เนต ได้ทำให้ทั้งคนมีชื่อเสียงและคนธรรมดาหลายคน ต้องปลิดชีวิตตนเองและนั่นคือเหตุผลที่โครงการ Sunfull Movement ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ศาสตราจารย์ มิน เบียง ชุล แห่งภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยคุนคุก ผู้ก่อตั้ง Sunfull Movement กล่าวว่า อันธพาลส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น ที่ได้รับความกดดันจากการเรียน หรือต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กเหล่านั้นเพียงแต่ระบายความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจออกมาทางอินเตอร์เนต และเมื่อมีการแสดงความเห็นร้ายๆ ออกมาหนึ่งคน คนอื่นๆ ก็จะทำตาม แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ มีบางคนที่กลับมีความสุขเมื่อได้รุกรานผู้อื่นแบบไม่เปิดเผยตนเอง

เกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญปัญหานี้

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย เพิ่งจะสั่งพักการเรียนเด็กนักเรียนหลายคน ที่โพสต์ข้อความแสดงความเกลียดชัง คุณครูลงในเว็บไซต์เฟซบุ้ค และมีเด็กผู้หญิงอเมริกันคนหนึ่งฆ่าตัวตาย หลังจากได้รับข้อความดูถูกเหยียดหยามทางอินเตอร์เนต ซึ่งศาสตราจารย์ มิน เบียง ชุล เชื่อว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกประเทศ ที่ควรร่วมมือป้องกันไม่ให้มีผู้ใดต้องคิดสั้น จากเหตุการณ์การกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์อีกต่อไป

ที่โรงเรียนมัธยมโฮกุ๊ก คุณครูคิม อึน ยัง บอกว่าหลังจากเริ่มโครงการ Sunfull Movement ต่อต้านการกลั่นแกล้งออนไลน์มาไม่นาน ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว ทั้งอันธพาลและผู้ถูกกลั่นแกล้งมีจำนวนลดลง อีกทั้งคุณครูและลูกศิษย์ก็เข้ากันได้ดีกว่าเดิม ครูอึน ยัง ยังบอกด้วยว่า ตามปกติ คนเกาหลีจะไม่ค่อยพูดขอบคุณ หรือบอกรักต่อหน้าเพื่อนหรือผู้ปกครองสักเท่าไหร่ แต่การส่งข้อความดีดี ในทำนองขอบคุณ หรือบอกรักผ่านทางอินเตอร์เนตนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ากันเยอะเลย