ในยุโรปและเอเชียนั้น มีรถไฟโดยสารความเร็วสูง ใช้กันมานานหลายปีแล้ว แต่ที่อเมริกานี่ ยังถือว่าล้าหลังในด้านนี้อยู่มาก เพราะรถไฟในอเมริกาทั้งเก่าและก็ช้ากว่า จะมีก็เพียงรถไฟด่วน ที่วิ่งระหว่างกรุงวอชิงตัน นครนิวยอร์ค และนครบอสตันที่พอจะเชิดหน้าชูตาได้บ้าง
แต่สิ่งเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อประธานาธิบดีโอบาม่า ประกาศแผนพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วอเมริกา โดยให้เงินลงทุนในช่วงเริ่มแรก 8 พันล้านดอลล่าร์ โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ จะมีประโยชน์ด้านใดบ้าง
รถไฟความเร็วสูงที่ฝรั่งเศสมีความเร็วสูงสูด 574 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถด่วนที่ญี่ปุ่นนั้นมีความเร็วสูงสุด 581 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทางด้านจีนก็กำลังตามมาติดๆ แต่ที่สหรัฐ รถไฟที่เร็วที่สุดซึ่งเรียกกันว่า Acela มีความเร็วสูงสุดเพียง 241 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช้ากว่าของญี่ปุ่น และฝรั่งเศสมากกว่าครึ่ง และยังให้บริการจำกัดเพียงแค่ระหว่างกรุงวอชิงตัน นครนิวยอร์คและนครบอสตันเท่านั้น ส่วนรถไฟอเมริกันที่วิ่งอยู่ตามส่วนอื่นๆ นั้น ส่วนใหญ่มีความเร็วไม่เกิน 170 กม.ต่อชม.
อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าล้าหลังที่ว่านั้นกำลังจะเปลี่ยนไป อีกไม่กี่ปี ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ที่รัฐแคลิฟอร์เนียจะมีรถด่วนความเร็ว 354 กม.ต่อชม. วิ่งระหว่างนครลอสแองเจลีส กับนครแซนแฟรนซิสโก โดยโครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างในอีก 2 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2020 และล่าสุด ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าประกาศแผนการลงทุน 8 พันล้านดอลล่าร์เพื่อพัฒนาเครือข่ายรางรถไฟทั่วประเทศ โดยเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งคือการสร้างงานใหม่ๆ
คุณ John Risch แห่งสหภาพการคมนาคมสหรัฐ ซึ่งเป็นสหภาพตัวแทน แรงงานรางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศระบุว่า เฉพาะแค่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย คาดว่าโครงการสร้างรางรถไฟความเร็วสูง 2 สายจะช่วยสร้างงานได้ถึง 160,000 ตำแหน่ง โดยตามโครงการที่ประธานาธิบดีโอบาม่าเสนอนั้น จะมีการพัฒนารางรถไฟ 13 สายตามเขตเมืองใหญ่ๆ ทั่วสหรัฐ อย่างไรก็ตาม รางรถไฟที่จะใช้กับรถด่วนความเร็วสูงจริงๆ จะมีเพียงแค่ในรัฐแคลิฟอร์เนียกับรัฐฟลอริดา เนื่องจากรางรถไฟส่วนใหญ่ ในอเมริกายังต้องใช้ร่วมกันระหว่างรถไฟโดยสาร กับรถไฟขนส่งสินค้า
คุณ Steve Kulm แห่งบริษัทรถไฟ Amtrak เจ้าของรถด่วน ที่มีความเร็วสูงสุดในอเมริกาในปัจจุบันชี้ว่า ความแตกต่างระหว่างรถไฟด่วนในยุโรป และเอเชียกับในอเมริกาก็คือ รถไฟด่วนในยุโรปและเอเชียนั้น จะมีรางเฉพาะ แต่ที่อเมริกาต้องใช้รางร่วม กับรถไฟขนส่งสินค้า และงบประมาณส่วนใหญ่ที่จะได้นั้น จะใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริการของรถไฟแบบธรรมดา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณ Kulm ระบุว่า ปัจจุบันการโดยสารรถไฟด่วน ในอเมริกากำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ทางด้านนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างคุณ Howard Learner แห่งศูนย์นโยบาย และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ก็ดูจะพออกพอใจกับแนวคิดโดยสารรถไฟด่วน เนื่องจากหากเทียบกัน ตามจำนวนผู้โดยสารต่อระยะทางแล้ว
เขาบอกว่า รถไฟด่วนจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิง ได้มากกว่ารถยนต์ถึง 3 เท่าและมากกว่าเครื่องบินถึง 6 เท่า จึงช่วยลดมลพิษ และปริมาณก๊าซ ที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจกได้อีกด้วย
นอกจากนี้ คุณ John Risch แห่งสหภาพการคมนาคมสหรัฐ ยังเสริมว่า รถไฟโดยสารนั้น เป็นพาหนะที่ปลอดภัยที่สุด ปลอดจากการจราจรที่คับคั่ง อีกทั้งยังประหยัดเชื้อเพลิง ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างชาติได้ และยังอาจกล่าวได้ว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายรางรถไฟนั้น คือการวางรากฐาน สำหรับแนวทางใหม่ในการขนส่งมวลชน ที่มีประสิทธิภาพในอเมริกา