ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวในเฮติเมื่อวันที่ 12 มกราคมเป็นต้นมา มีผู้ประกาศให้ความช่วยเหลือแก่เฮติรวมเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์แล้ว
ผู้สื่อข่าว VOA, Lisa Bryant รายงานจากกรุงปารีส เกี่ยวกับโอกาสที่ประชาคมระหว่างประเทศ จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานั้น
เมื่อเกิดภัยพิบัติสึนามิที่ยังความเสียหายใหญ่หลวง ในอินโดนีเซียและประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิคหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยปลายปี 2547 นั้น มีหลายประเทศ และองค์กรประกาศให้ความช่วยเหลือเป็นเงินมากมายมหาศาล สำหรับการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินและการฟื้นฟูบูรณะ
มาตอนนี้ ขณะที่ประชาคมโลก กำลังให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือมากมายแก่เฮติ ในการบรรเทาทุกข์เนื่องจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ก็น่าจะหันมาดูกันว่า ได้มีการดำเนินงาน ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อปี 2547 ตามคำมั่นสัญญาไปแล้วมากน้อยแค่ไหนเพียงใด
องค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ OECD ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส กำลังศึกษาพิจารณาเรื่องนี้ และเจ้าหน้าที่ด้านสถิติ ขององค์การดังกล่าว กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วมีผลในทางที่ดี
Yasmin Ahmad ผู้จัดการหน่วยงานด้านสถิติของ OECD กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตัวเลขล่าสุดแล้ว แม้ว่าทางองค์การนี้ จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ความช่วยเหลือที่ประกาศกันนั้น มุ่งเฉพาะในด้านใด ของโครงการช่วยเหลือนั้นบ้าง แต่คำประกาศให้ความช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรมซึ่งเป็นความช่วยเหลือเร่งด่วน ส่วนใหญ่ดำเนินไปตามคำมั่นสัญญารวดเร็วมาก
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่กลุ่มวิจัยการดำเนินงานช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรม Humanitarian Outcomes กล่าวว่า กำลังมีการดำเนินงานตามคำมั่นสัญญาให้ความช่วยเหลือแก่เฮติ
Abby Stoddard แห่งกลุ่ม Humanitarian Outcomes กล่าวว่า เงินจำนวนมากที่กำลังมีเข้ามาในตอนนี้ สำหรับวิกฤติการณ์ร้ายแรง ไม่ใช่ปัญหา และมีเข้ามารวดเร็ว เกินกว่าที่บรรดาองค์การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ จะสามารถจัดเข้าระบบทัน และว่าปัญหาจะมีขึ้นมา เมื่อถึงวันเวลาของการฟื้นตัว และการบูรณะฟื้นฟูประเทศในระยะยาว เมื่อบรรดาสื่อมวลชนกลับออกไปแล้ว และความสนใจน้อยลง
นักวิจัยทั้งหลายกล่าวกันว่า เมื่อพิจารณาเรื่องความช่วยเหลือระยะยาวแล้ว ตามประวัติที่ผ่านมามีความหลากหลายกว่านั้น Abby Stoddard ยกตัวอย่าง กลุ่มผู้ประกาศให้ความช่วยเหลือ แก่อัฟกานิสถานรวมเป็นมูลค่าหลายพันล้านดออลลาร์ แต่มีการส่งความช่วยเหลือ ไม่ครบตามคำมั่นสัญญาที่มีประกาศไว้
Abby Stoddard เจ้าหน้าที่กลุ่มวิจัยการดำเนินงานช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรม Humanitarian Outcomes กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการดำเนินการตามคำมั่นสัญญา ให้ความช่วยเหลือล่าช้ามาก และบางครั้งมีการนับซ้ำ เพื่อว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ จะได้นับว่า ได้ให้ความช่วยเหลือไปมากน้อยเท่าใดแล้ว สำหรับความช่วยเหลือการฟื้นฟูบรณะประเทศ ในระยะยาวที่ประกาศไว้
Yasmin Ahmad ผู้จัดการหน่วยงานด้านสถิติของ OECD ก็ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คำมั่นสัญญาของประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศรวมทั้ง อิตาลี ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ที่จะเพิ่มความช่วยเหลือด้านการพัฒนา ดูเหมือนว่า จะไม่เป็นไปตามกำหนดของปีนี้
อย่างไรก็ตาม กลไกติดตามความช่วยเหลือที่ประเทศค่างๆ ประกาศไว้ มีความก้าวหน้าทันการณ์ยิ่งขึ้น และนักวิเคราะห์คาดกันว่า กลไกเหล่านี้จะผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ประกาศไว้ โดยมีเฮติเป็นเป็นการทดสอบ ความน่าเชื่อถือของประเทศเหล่านั้น.