เมื่อพูดถึงคางคก คงจะมีคุณผู้ฟังหลายท่าน ที่ไม่ค่อยจะชื่นชอบ เจ้าสัตว์ที่มีผิวหนังตะปุ่มตะป่ำชนิดนี้สักเท่าไหร่ แล้วยิ่งเป็นคางคกที่มีพิษ หลายคนคงจะบอกว่า ยิ่งห่างเอาไว้ก็ยิ่งดี
แต่นักธุรกิจหัวใสจากรัฐควีนสแลนด์ กำลังมีแผนจับคางคกยักษ์ออสเตรเลีย หรือที่เรียกกันว่า cane toad ซึ่งเป็นคางคกมีพิษที่ไม่มีใครต้องการ แปลงเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อใช้เป็นยา และอาหารตามตำรับดั้งเดิมของชาวจีน จะน่ากินแค่ไหน
คางคกยักษ์ออสเตรเลียหรือ cane toad เป็นสัตว์ที่ว่ากันว่า มีคนเกลียดและกลัวมากที่สุด ชนิดหนึ่งของออสเตรเลียเลยทีเดียว คาดว่าปัจจุบันที่ออสเตรเลียนั้น มีเจ้าคางคกยักษ์ชนิดนี้อยู่ราว 200 ล้านตัว ซึ่งกำลังรุกรานที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ คางคกยักษ์ cane toad นั้นไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลีย แต่เกิดที่อเมริกา และถูกนำมายังรัฐควีนสแลนด์ เมื่อช่วงคริสทศวรรษ 1930 เพื่อใช้กำจัดแมลงที่มาทำลายไร่อ้อย แต่แผนดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนที่เจ้าคางคกยักษ์นี้ จะขยายพันธ์อย่างรวดเร็วไปทั่วออสเตรเลีย และขยายแหล่งที่อยู่ในอัตราส่วนพื้นที่ 40-50 กิโลเมตรต่อปี สำหรับพิษของคางคกยักษ์ไร่อ้อยนี้ มีลักษณะสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม ไหลเวียนอยู่ทั่วลำตัว โดยเฉพาะที่ไหล่ทั้งสองข้าง พิษร้ายนี้สามารถฆ่าสัตว์เล็กๆ ไปจนถึงสัตว์ขนาดปานกลาง เช่นสุนัขและแมวได้ อีกทั้งยังอาจทำให้ผู้ที่ได้รับพิษ เกิดความเจ็บปวดแสนสาหัสหากพิษนั้นสัมผัสตาหรือปาก และอาจทำให้ตามืดบอดชั่วขณะ
คนออสเตรเลียบอกว่า สัตว์ท้องถิ่นที่ว่ากันว่าดุร้ายอย่าง จรเข้น้ำจืด งูหรือสัตว์จำพวกจิงโจ้ ต่างไม่กล้ายุ่งเกี่ยวกับเจ้าคางคกยักษ์ เพราะเกรงกลัวพิษที่ว่านี้ด้วยกันทั้งนั้น ในขณะที่ชาวออสซี่เองก็พากันรังเกียจ และหาวิธีต่างๆมากมายที่ใช้กำจัดสัตว์มีพิษชนิดนี้
แต่ทราบไหมว่า แม้จะน่าเกลียดน่ากลัวขนาดที่ชาวออสเตรเลีย ไม่มีใครต้องการ แต่ที่ประเทศจีน cane toad กลับได้รับความนิยม ในหมู่นักปรุงยาจีนตำรับดั้งเดิม เพราะเชื่อว่าพิษคางคกนั้น มีสรรพคุณกระตุ้นหัวใจ ช่วยขับปัสสาวะ และยังช่วยรักษาโรคโพรงจมูกอักเสบ และอาการปวดฟันได้อีกด้วย อีกทั้งหนังคางคกและอวัยวะส่วนอื่นๆ ยังเชื่อกันว่ามีประโยชน์ด้านการบำบัดโรคต่างๆ ได้ดีเช่นกัน
คุณ John Burey ผู้บริหารบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์ ในรัฐควีนสแลนด์ คิดว่านั่นคือช่องทางธุรกิจที่น่าสนใจ คือการส่งออกเนื้อคางคกยักษ์ ไปยังตลาดประเทศจีน
นักธุรกิจออสซี่ผู้นี้บอกว่า ชาวจีนใช้หนังคางคก และส่วนอื่นๆ ในการปรุงยาแผนโบราณมานานหลายปีแล้ว จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะนำสัตว์ที่สร้างความรำคาญ ให้แก่คนออสเตรเลีย ไปแปรเป็นสัตว์ที่สร้างผลกำไรได้ และเพื่อศึกษาตลาดคางคกคุณ Burey จะเดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเดือนหน้า เพื่อเจรจากับลรรดาลูกค้า และยังต้องทำเรื่อง และขอใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ กับทั้งเจ้าหน้าที่จีน และออสเตรเลียก่อนที่จะส่งออกคางคกยักษ์ อย่างเป็นจริงเป็นจังต่อไป