การเผาป่า เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก

ในขณะที่มีการพูดถึงกันว่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล คือสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ แต่ในอีกด้านหนึ่งการทำลายป่าด้วยวิธีเผาป่า ก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก คิดเป็นสัดส่วนถึง 20%

บรรดานักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนนั้น ประชาคมโลกควรช่วยเหลือประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย บราซิล และคองโก ปกป้องป่าไม้เขตร้อน

การเผาป่าเพื่อสร้างที่ดินทำกินนั้น มีมานานแล้วในอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเชื่อกันว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และประหยัดที่สุดในการหักล้างถางพง และไม่เพียงแต่เกษตรกรรายเล็กๆเท่านั้น แต่ปัจจุบัน บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ต่างใช้วิธีถาง และเผาป่าเพื่อนำที่ดินมาปลูกพืชผลการเกษตรที่ให้ราคาดี อย่างเช่น ปาล์มน้ำมัน ซึ่งการทำลายป่าในลักษณะนี้ ส่งผลกระทบใหญ่หลวง และคุกคามวิถีชีวิตของหลายชุมชนในอินโดนีเซีย และยังเป็นอันตรายต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากควันไฟ ที่เกิดจากการเผาป่าในอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย ได้ลอยไปไกลถึงสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ การที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง ยังส่งผลให้ไม่มีต้นไม้คอยดูดซับก๊าซ ที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนั่นคือตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน รายงานระบุว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียคือประเทศที่ปล่อยก๊าซ ที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐ และจีน

บนเกาะสุมาตรา ปัญหาดังกล่าวยิ่งรุนแรงขึ้น เนื่องจากผืนดินในป่าบนเกาะสุมาตรานั้น ปกคลุมด้วยถ่านหินเลนซึ่งเกิดจากซากต้นไม้ที่ทับถมกัน ถ่านหินเลนบนหน้าดินนั้นคือที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล ดังนั้น การถางป่าหรือเผาป่าจึงเป็นการทำลายถ่านหินเลน และทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านั้น ถูกปล่อยออกมายังชั้นบรรยากาศ

ขณะนี้อาสาสมัครขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม Greenpeace กำลังเร่งสร้างเขื่อนบนเกาะสุมาตราเพื่อปกป้องพื้นที่ป่าไม้ ที่มีถ่านหินเลนปกคลุมหน้าดิน เขื่อนดังกล่าวใช้ป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลามเข้าไปในเขตป่าไม้ที่ว่านั้น นอกจากนี้ทางกลุ่ม Greenpeace ยังรณรงค์ให้การศึกษากับประชาชนอินโดนีเซียด้วย

คุณบัสตาร์ มีททาร์ ผู้นำกลุ่ม Greenpeace ในอินโดนีเซีย กล่าวว่ากิจกรรมนี้คือส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ทั่วโลก เพื่อให้ประเทศที่ร่ำรวยจัดหาเงินให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อใช้หยุดยั้งการทำลายป่า คุณมีททาร์บอกว่าต้องใช้เงินทุนอย่างน้อย 30,000 ล้านยูโร เพื่อช่วยประเทศต่างๆรวมทั้งอินโดนีเซีย ปกป้องป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย และแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน คาดว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศโลก ที่กรุงโคเปนเฮเก้นในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ และคุณมีททาร์แห่งกลุ่ม Greenpeace ยังบอกด้วยว่า หากไม่มีการช่วยเหลือจากนานาประเทศแล้ว การแก้ไขปัญหาการทำลายป่าไม้ ในอินโดนีเซีย ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย