นักกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และด้านสิทธิมนุษยชนภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งประชุมกันอยู่ที่ประเทศไทยกำลังยื่นคำร้อง ต่อรัฐบาลของประเทศในภูมิภาค ขอให้ระงับการสร้างเขื่อนซึ่งคุกคามอาหารสำหรับสนองความต้องการของประชาชนนับล้านๆ คนและทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบางพื้นที่
นักกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนำแม่แบบในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ล้าสมัย มาใช้ซึ่งเป็นแม่แบบที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชน อีกทั้งการสร้างเขื่อนมิได้ประกันว่า การพัฒนาจะเป็นไปอย่างเสมอภาคและยั่งยืน
กลุ่มเหล่านั้นซึ่งมาร่วมการประชุมของประชาชน ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสุดยอดของสมาคมอาเซียนในระยะหลังของสัปดาห์นี้ อย่างเช่นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม " Towards Ecological Recovery and Regional Alliance" ล่าลายเซ็นของประชาชนมาได้มากกว่าสองหมื่นคน ซึ่งขอให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ สละแผนการที่จะสร้างเขื่อนตามบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่างนั้นเสีย
จะมีการนำคำร้องนั้นเสนอต่อผู้นำของเขมร ลาวและเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่มีเขตจรดแม่น้ำโขงเช่นเดียวกับประเทศไทย พวกนักกิจกรรมขอให้รัฐบาลไทยสละโครงการเหล่านั้น
คุณเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้แทนของกลุ่มพันธมิตรกล่าวไว้ตอนนี้ว่า " เรื่องสำคัญที่สุดที่เราวิตกห่วงใยก็คือถ้าสร้างเขื่อน 11 แห่งตรงบริเวณที่เป็นหลักๆ ของลุ่มน้ำโขงตอนล่างก็จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการประมงค์ของทั้งย่านลุ่มน้ำโขง และเกรงกันว่าจะกระทบกระเทือนอย่างมหันต์ ต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชนนับล้านๆ คนในภูมิภาคนั้นได้ "
ประชาชนหกสิบล้านกว่าคน ในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยการจับปลาในแม่น้ำโขงเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพ ต้นน้ำของแม่น้ำโขงอยู่ที่ธิเบต และไหลผ่านจีนและภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมเป็นระยะทาง 4,800 กิโลเมตร
เวลาเดียวกัน กลุ่มเอกชนห้าสิบกว่ากลุ่ม ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลไทย ขอให้ระงับแผนการที่จะสร้างเขื่อน 5 แห่งในย่านแม่น้ำสาละวิน เขื่อนสี่แห่งนั้นจะจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประเทศไทย และอีกแห่งหนึ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้จีน
กลุ่มเอกชนเหล่านั้น กล่าวหาฝ่ายทหารพม่าว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่บริเวณซึ่งจะเป็นที่ตั้งของเขื่อนแห่งหนึ่งในรัฐของชาวกะเหรี่ยง และที่บริเวณอีกแห่งหนึ่งที่จะเป็นที่ตั้งของเขื่อนในรัฐฉาน
โฆษก สาย สายของกลุ่มพันธมิตร Salween Watch Coalition ซึ่งเป็นแกนนำ ในการยื่นคำร้องเรียนกล่าวไว้ในตอนนี้ว่า "ถึงแม้เพิ่งมีการเริ่มลงมือสร้างเขื่อน แต่ผลของการสำรวจพบว่าฝ่ายทหารพม่า บังคับให้ประชาชนออกไปจากบ้านเรือนของพวกเขา ขณะนี้ประชาชนเจ็ดหมื่นกว่าคนซึ่งมีคนพื้นเมืองรวมอยู่ด้วย ได้รับการนำไปตั้งหลักแหล่งใหม่นอกเมืองที่พวกเขาอยู่ โดยที่ไม่มีการปรึกษาหารือประชาชนในพม่า ที่โดนกระทบกระเทือนเหล่านั้นเกี่ยวกับเรื่องการสร้างเขื่อนนั้นเลย"
โฆษก สาย สาย กล่าวด้วยว่า โครงการดังกล่าว ขาดความโปร่งใส และขาดความรับผิดชอบเพราะเงินที่จ่ายให้ประชาชนกลับไปเข้ากระเป๋ารัฐบาลทหารพม่า กลุ่มเอกชนเหล่านั้นต้องการให้ระงับโครงการสร้างเขื่อนทุกแห่ง ไว้จนกว่าพม่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน