ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกนั้น ปีหนึ่งๆ มีคนเป็นไข้เลือดออกราว 50 ล้านคนทั่วโลก และคนราว 2,500 ล้านคนหรือราว 2 ใน 5 ของประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้
ขณะนี้โรคไข้เลือดออกกำลังแพร่ออกไป ตามยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำเชิ้อ และเข้าไปในหลายบริเวณอย่างรัฐเท็กซัสในสหรัฐ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่เขตร้อนที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์
นักวิทยาศาสตร์ที่มูลนิธิวิจัยในรัฐเท็กซัสรายงานว่า มีสิ่งส่อแสดงในทางที่ดีเกี่ยวกับการต่อสู้ปราบปรามโรคร้ายนี้
นักวิจัยอธิบายว่า ในการทดลองนี้ โดยพื้นฐานแล้ว นักวิทยาศาสตร์สร้างระบบภูมิต้านทานของมนุษย์ขึ้นในหนูทดลอง ซึ่งจะทำให้หนูทดลองสามารถติดเชื้อไข้เลิอดออกจากยุงกัดได้เหมือนคนเรา หนูทดลองที่ถูกฉีด stem cell หรือ เซลพื้นฐานจากสายสะดือจากสตรีหลังคลอด เป็นส่วนสำคัญของการศึกษาเรื่องไข้เลือดออก
ด้วยการทำให้หนูทดลองติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกนั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาได้ว่า โรคนี้ติดคนได้อย่างไร และอะไรคือตัวการที่อาจก่อให้เกิดเลือดออกที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ในคนเรานั้น โรคนี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่เขตร้อนหรือใต้เขตร้อน ซึ่งคนไข้จะเกิดผื่นคันตามตัว ปวดศีร์ษะ และมีไข้ ในรายที่อาการหนัก จะมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ช็อคเป็นลมหมดสติ และอาจถึงแก่เสียชีวิต ยังไม่มีทางบำบัดรักษาให้หายขาด
วิธีการใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาอยู่ อาจช่วยให้มีการบำบัดรักษาที่ดีกว่าเดิมในการระบุสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายที่สุด
Rebecca Rico Hess นักวิทยาศาสตร์ที่ Southwest Foundation for Biomedical Research ที่เมือง Houston รัฐเท็กซัส อธิบายว่า ต้องทำให้หนูทดลองติดเชื้อโดยปล่อยให้ถูกยุงกัดจึงจะได้สภาพการณ์การติดเชื้อโดยธรรมชาติ ที่อาจเร่งหรือลดอัตราการติดเชื้อได้ หากใช้วิธีฉีดเชื้อด้วยเข็มฉีดยา จะทำให้ไม่ได้สภาพการณ์ที่เชื้อออกมาจากต่อมน้ำลายของยุงจริงๆ
นักวิจัยที่กำลังทำงานกับคนไข้ในละตินอเมริกา กล่าวว่า การที่มีโอกาสพบผู้ป่วยในหลายประเทศ รวมทั้งเด็กที่ใกล้เสียชีวิตเพราะโรคนี้ ทำให้รู้สึกถึงความเร่งด่วนที่จะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อต่อสู้กับโรคนี้
แม้ยังจะต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะมีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสเพื่อต่อสู้กับไข้เลือดออก แต่งานวิจัยนี้ทำให้นักวิจัยมีความหวังว่า สักวันหนึ่งจะสามารถลดความร้ายแรงของโรคนี้ลงได้